ออกอากาศ : วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: หินน้ำลาย
บทคัดย่อ:      ถ้าจะบอกว่าคุณมีหินน้ำลายเกาะที่ฟัน อาจจะไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่ถ้าบอกว่าหินปูนคงจะคุ้นเคยมากกว่า ทพ.มหิศร  วิเศษจัง งาน      ทันตกรรม  อธิบายว่า  ปัญหาของหินน้ำลายหรือที่เราเรียกกันติดปากว่าหินปูนนั้น เกิดจากแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่เรียกว่า Biofilm เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นไม่นานหลังการแปรงฟันหรือการทำความสะอาดในช่องปาก ซึ่งเริ่มแรกจะมีเมือกใสน้ำลายมาเกาะที่พื้นผิวฟัน จากนั้นจะถูกแร่ธาตุในน้ำลายจับตัวเป็นตะกอนทับถมกัน ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะได้รับสารอาหารจากน้ำตาลที่เรากินเข้าไปแล้วสังเคราะห์พลังงานออกมา ผลพลอยได้ก็คือสารพิษและกรดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบหรือฟันผุได้ แผ่นคราบจุลินทรีย์เมื่อเริ่มเกิดใหม่ ๆ จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้สีย้อมพิเศษ จึงจะมองเห็นได้ชัดเจน

     ส่วนคราบหินน้ำลายหรือหินปูนนั้นจะเกาะแน่นหนากับพื้นผิวฟัน สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า  และสามารถรู้สึกได้เมื่อลิ้นสัมผัสไปตามผิวฟัน โดยเราสามารถกำจัดคราบหินปูนได้ด้วยการขูดออกและเกลารากฟันเท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์จะขูดหินปูนที่อยู่ใต้และเหนือเหงือก แต่ส่วนที่เกาะลึกอยู่ใต้เหงือกจะใช้วิธีการเกลารากฟัน โดยจะใช้เวลาครั้งละประมาณ 20 - 30 นาที หรืออาจใช้เวลามากกว่านี้หากมีการอักเสบของเหงือกรุนแรง  โดยทันตแพทย์จะนัดหมายผู้ป่วยมาเพื่อประเมินผลการรักษาและการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากคนไข้หลังจากนั้นอีก 4 - 6 สัปดาห์  สำหรับผลข้างเคียงของผู้ที่มีปัญหาเรื่องหินน้ำลายหรือหินปูนนั้น ได้แก่ การมีเลือดออกในขณะแปรงฟัน เหงือกบวมแดง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น มีหนอกออกจากร่องเหงือก ฟันโยก หรือมีอาการฟันเคลื่อนออกจากกัน เป็นต้น  ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องหินน้ำลายหรือหินปูนก็อย่าปล่อยไว้นาน จนเกิดผลข้างเคียงตามมาภายหลัง  จึงควรไปพบทันตแพทย์ทันที

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช