ออกอากาศ : วันที่ 27 มกราคม 2551  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหารในเด็ก
บทคัดย่อ:      หลังจากที่ลูกน้อยรับประทานนมเสร็จ คุณแม่อาจตกใจเมื่ออยู่ดี ๆ ลูกน้อยก็สำรอกน้ำนมออกมา  และคงสร้างความกังวลใจแก่คุณแม่อย่างมากเมื่ออาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ  รศ.นพ.ประพันธ์  อ่านเปรื่อง  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  อธิบายว่า   ภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหารในเด็ก  เป็นภาวะที่น้ำย่อยหรืออาหารจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร พบได้ในทารกและเด็กโต ทำให้มีอาการแสบร้อนที่หน้าอก  มีน้ำรสขมเปรี้ยวไหลย้อนขึ้นมาในปาก  ทั้งนี้ ทารกในช่วง 6 เดือนแรก จะเกิดภาวะนี้ได้บ่อย ซึ่งหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็ไม่ถือว่าเป็นโรค และสามารถหายได้เองในช่วงอายุขวบปีแรก แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการต่าง ๆ ทางการแพทย์เรียกว่า โรคไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร
      สำหรับสาเหตุของโรค เกิดจากหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ โดยทารกอายุไม่กี่เดือนหลังคลอด หูรูดอาจยังทำงานไม่สมบูรณ์จึงเกิดภาวะนี้ได้  ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมบ่อย ๆ ได้แก่ อาจเกิดจากความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น เกิดจากความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะอาหาร  รวมทั้งการบีบตัวของหลอดอาหาร   ส่วนอาการของโรคในทารกมักจะสำรอกหรืออาเจียนหลังรับประทานนม และมีอาการแทรกซ้อน เช่น น้ำหนักตัวขึ้นช้าหรือน้ำหนักลด ปฏิเสธนม ร้องกวนผิดปกติ ไอเรื้อรัง เป็นต้น   แต่ในเด็กโต มักมีอาการแสบร้อนที่ลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและจะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหาร ทั้งยังมีรสขมเปรี้ยวในปากจากของเหลวที่ไหลย้อนขึ้นมา 
การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและอายุของผู้ป่วย ในเด็กทารก หากมีเพียงอาการสำรอกเป็นครั้งคราวโดยไม่มีอาการแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์  เช่น  อุ้มประคองในขณะรับประทานนมให้ศีรษะสูงเล็กน้อย ส่วนในเด็กโต พยายามอย่าให้เด็กรับประทานอาหารในปริมาณมาก ควรรับประทานในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และออกกำลังสม่ำเสมอ เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม หากการรักษาเบื้องต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรดและเพิ่มการบีบรัดตัวของกระเพาะและหลอดอาหาร เป็นต้น ภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหารในเด็กทารก  จะหายได้เองในขวบปีแรกของผู้ป่วย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อยาที่รักษา ซึ่งแพทย์อาจจะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช