ออกอากาศ : วันที่ 30 ธันวาคม 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: สำลักสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ
บทคัดย่อ:      อันตรายจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในทางเดินหายใจเป็นสิ่งใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้  โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ปกครองจึงควรรู้วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างถูกต้อง  รศ.พญ.กิติรัตน์  อังกานนท์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อธิบายว่า ปัญหาสำลักสิ่งแปลกปลอมมักเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เด็กมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่เข้าไปในรูจมูกและปาก  ประกอบกับฟันที่ยังขึ้นไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นโต ๆ ได้ จึงอาจเกิดการสำลักอาหารระหว่างรับประทานหรือขณะวิ่งเล่น อันตรายจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ คือ อาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจ  ซึ่งในเด็กเล็กมีทางเดินหายใจขนาดเล็ก แม้ถูกอุดกั้นเพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายจากการขาดอากาศหายใจถึงชีวิตได้  นอกจากนี้สิ่งแปลกปลอมบางชนิด เช่น ถ่านนาฬิกา ถ่านเครื่องคิดเลข เมื่อตกค้างในทางเดินหายใจจะเกิดการรั่วซึมของสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างเข้มข้นออกจากตัวถ่าน อาจทำให้เกิดการทะลุของหลอดลมหรือหลอดอาหาร มีการติดเชื้อเข้าสู่ช่องอก  เป็นอันตรายถึงชีวิตได้  เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการสำลัก ไอ หายใจเสียงดัง  หายใจลำบาก บางครั้งจะไอรุนแรงจนเขียวหรืออาเจียน อาการเหล่านี้จะเป็นมากในช่วงหนึ่งหรือสองชั่วโมงแรกถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่  เช่น เมล็ดละมุดหรือน้อยหน่า อาจติดอยู่บริเวณใต้กล่องเสียง ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดกั้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตก่อนถึงมือแพทย์  หากสิ่งแปลกปลอมมีขนาดเล็ก หลุดผ่านกล่องเสียงลงไปในหลอดลมข้างใดข้างหนึ่งได้ อาการไอจะสงบลงชั่วคราว หลังจากนั้นจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ปอดโป่งพอง หรือปอดอักเสบ  บางครั้งมีอาการเหมือนหอบได้  ในเรื่องนี้ การป้องกันมีความสำคัญมากกว่าการรักษา เพราะเป็นภาวะที่อาจเกิดซ้ำๆ อีกได้  ไม่ควรปล่อยเด็กเล็กให้อยู่ตามลำพัง เด็กอาจหยิบจับสิ่งใด ๆ ที่ไม่ใช่อาหารเข้าปากได้ตลอดเวลา ผู้ปกครองควรสังเกตอาการ ถ้าเกิดอาการไอ หอบเหนื่อยเฉียบพลัน หายใจเสียงดังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรมาปรึกษาแพทย์

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช