ออกอากาศ : วันที่ 30 ตุลาคม 2550 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
คอมพิวเตอร์ทำป่วย |
บทคัดย่อ:
|
ผู้ใหญ่ที่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ หรือแม้แต่เด็ก ๆ ที่ชอบนั่งเล่นเกมกับคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน รศ.นพ.ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อธิบายว่า พฤติกรรมดังกล่าวสามารถทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายได้หลายอย่าง การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลา นาน ๆ หรือการจ้องคอมพิวเตอร์นาน ๆ เช่น เกินสองถึงสามชั่วโมงขึ้นไปนั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดที่กระดูกข้อมือ ปวดหัว ปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หรือปวดหลัง และหากใช้สายตาจ้องหน้าจอนาน ๆ มักมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว ตาสู้แสงไม่ได้ ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้เรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือโรคซีวีเอส (Computer Vision Syndrome : CVS) อาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาการในบางคนอาจเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่บั่นทอนการทำงาน เมื่อพักการใช้คอมพิวเตอร์สักครู่ก็หายไป แต่บางคนอาจต้องว่างเว้นการใช้เป็นวันก็หายไป บางรายอาจต้องใช้ยาระงับอาการ ในเด็กที่เพ่งจอคอมพิวเตอร์นานๆสายตาจะสั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย สาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยกระพริบตา หากเรานั่งจ้องคอมพิวเตอร์ ไปนาน ๆ อัตราการกระพริบจะลดลง ทำให้ผิวตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง อาจใช้น้ำตาเทียม หยอดตาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดตาและแสบตา แสงจ้าและแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างปะทะหน้าจอภาพสะท้อนเข้าตาผู้ใช้ ทำให้เมื่อยล้าตาง่าย ซึ่งควรจัดแสงภายในห้องทำงานไม่ให้มีแสงสะท้อนมาที่จอคอมพิวเตอร์ และควรปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไป การจัดวางคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพนั้นควรจัดจอภาพให้อยู่ในระยะพอเหมาะที่ตามองสบาย ๆ ไม่ต้องเพ่ง โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพประมาณ 50 เซนติเมตร และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 20 องศา ซึ่งถือเป็นท่านั่งทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|