ออกอากาศ : วันที่ 28 ตุลาคม 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: หลอดเลือดขอดในสมอง
บทคัดย่อ:         ปัจจุบันมีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาด้วยโรคหลอดเลือดขอดในสมองกันมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคจะเป็นอย่างไรและสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ รศ.นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์  ภาควิชารังสีวิทยา  อธิบายว่า  โรคหลอดเลือดขอดในสมอง เกิดจากความผิดปกติของระบบหลอดเลือดของสมอง โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดขอด และหลอดเลือดดำที่สัมพันธ์กัน โดยหลอดเลือดแดงจะนำเลือดไปสู่บริเวณที่เป็นหลอดเลือดขอดและไหลเวียนออกไปทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกเพศทุกวัย นับตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุมากกว่า 60 ปี                            
       สาเหตุของโรคหลอดเลือดขอดในสมองนั้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นที่ทราบว่าหลอดเลือดขอดในสมองสามารถเกิดภายหลังคลอดแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา และยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหลายตำแหน่งในร่างกาย เช่น ที่ปอด บริเวณโพรงจมูก หรือในสมอง สำหรับผู้ป่วยเด็ก จะพบอาการผิดปกติได้ เช่น ศีรษะขนาดใหญ่ขึ้น มีเส้นเลือดสีคล้ำบริเวณใบหน้า หรือมีอาการหัวใจล้มเหลว  ส่วนผู้ใหญ่ อาการที่ปรากฏภายนอกจะไม่ชัดเจน ยกเว้นบางรายอาจมีปานแดงที่บริเวณใบหน้าและลำคอ  แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นหลอดเลือดขอดในสมองที่มาพบแพทย์จะมีอาการชักมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วย โดยจะมีอาการปวดศีรษะ และมีอาการทางสมอง เช่น หมดสติเนื่องจากหลอดเลือดขอดในสมองแตก หรือมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง
       สำหรับวิธีการรักษานั้น แพทย์จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น  โดยวิธีการส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ที่เรียกว่า การตรวจซีทีสแกน  การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งการตรวจดังกล่าวข้างต้นจะทำให้ภาวะที่สงสัยว่า มีหลอดเลือดขอดในสมองได้รับการวินิจฉัยแล้วจึงนำไปสู่การส่งตรวจหลอดเลือดสมองโดยตรง เนื่องจากจะเห็นหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม อาทิ รักษาโดยการผ่าตัดสมอง  การรักษาผ่านทางหลอดเลือด หรือที่เรียกว่ารังสีร่วมรักษา โดยใช้สายสวนหลอดเลือดเข้าไปถึงเส้นเลือดขอด แล้วฉีดสารอุดตันเข้าไป  ส่วนการรักษาโดยการฉายรังสีแกมมาไนฟ์ จะใช้ในกรณีที่หลอดเลือดขอดมีขนาดเล็กและหรืออยู่ในตำแหน่งที่การรักษาข้างต้นของวิธีดังกล่าวทำได้ยาก  ทั้งนี้การรักษาดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ  ปัจจุบันแพทย์ยังไม่พบวิธีป้องกันการเกิดหลอดเลือดขอดในสมอง มีเพียงแต่การให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดอาการชัก แต่โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช