ออกอากาศ : วันที่ 21 ตุลาคม 2550 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
โรคหูน้ำหนวก |
บทคัดย่อ:
|
ขณะที่เราเป็นหวัดนั้น ไม่ควรสั่งน้ำมูก ไอ หรือจามแรง ๆ เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลาง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคหูน้ำหนวกได้ อ.นพ.สมุทร จงวิศาล ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อธิบายว่า โรคหูน้ำหนวก เกิดจากการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งน้ำหนวกคือ น้ำที่ไหลจากรูหู โดยมี 2 ลักษณะคือ หูน้ำหนวกแบบใส มีสาเหตุจากการเป็นหวัด คัดจมูก คออักเสบ โรคแพ้อากาศเรื้อรัง มีอาการบวมในช่องคอ และท่อต่อหลังจมูก ทำให้มีน้ำใส ๆ หรือเมือกออกมาขังในหูชั้นกลาง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ หูตึง ฟังไม่ชัด และมีน้ำขังในช่องหูตลอดเวลา ส่วน หูน้ำหนวกแบบเป็นหนอง เกิดจากการอักเสบของหูชั้นกลาง และมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหูมาก มีไข้ ปวดศีรษะ แต่หากเป็นแบบเรื้อรัง จะมีน้ำหนวกเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็นไหลออกจากรูหู หูตึงเล็กน้อย การได้ยินอาจมีไปจนไม่ได้ยินเลย ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น ฝีหลังหู เส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้าถูกกดทำให้ปากเบี้ยว ตาหลับไม่สนิท เกิดการชาบริเวณหน้า หรือหากลุกลามเข้าหูชั้นใน ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหูเสื่อม แต่หากร้ายกว่านั้นจนเกิดลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบไปจนเป็นฝีในสมอง ซึ่งหากไม่รีบทำการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากการเป็นโรคหูน้ำหนวกได้ ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หากเป็นหวัด ไม่ควรสั่งน้ำมูก ไอ หรือจามแรง ๆ เพราะจะทำให้เชื้อโรคถูกดันเข้าหูชั้นกลางได้ ในบางรายที่แพทย์ตรวจพบว่ามีอาการแก้วหูทะลุ ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าหูเวลาสระผม และห้ามว่ายน้ำ ดำน้ำโดยเด็ดขาด (ห้ามผู้ป่วยแคะหู) ส่วนขี้หูนั้นเราไม่จำเป็นต้องแคะทิ้ง เพราะผิวหนังสร้างมันขึ้น เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคและเชื้อรา ขี้หูจะหลุดเลื่อนออกมาเองตามธรรมชาติ หรือหากรู้สึกรำคาญควรปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวก ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหยอดยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลาม ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกินไป อาจทำให้เราสูญเสียการได้ยินในที่สุด |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|