ออกอากาศ : วันที่ 14 ตุลาคม 2550 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
แผลเป็น |
บทคัดย่อ:
|
หลายคนอาจรู้สึกไม่ชอบใจกับแผลเป็นที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เพราะทำให้เราขาดความสวยงามไป ซึ่งจะสามารถรักษาให้ริ้วรอยนั้นหายไปได้หรือไม่ ผศ.นพ.สรวุฒิ ชูอ่องสกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า แผลเป็นบนผิวหนังตามร่างกายของเรา แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน คือ 1. แผลเป็นที่โตนูน ซึ่งจะมี 2 แบบ ได้แก่ แผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผล อาจเกิดขึ้นในตำแหน่งที่มีความตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อหรือกลางหน้าอก มักพบมากในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ยุบลง และจะกลับเข้าสู่แผลเป็นคงที่ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงแผลเป็นปกติในช่วงประมาณ 1 ปี ภายหลังเกิดบาดแผล ส่วนแผลเป็นคีลอยด์ ได้แก่ แผลเป็นที่นูนและขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก มักพบในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ซึ่งเกิดจากการที่แผลมีการสร้างคอลลาเจนมากกว่าปกติ แผลเป็นลักษณะที่ 2. ได้แก่ แผลเป็นที่ลึกบุ๋มลงไป มีลักษณะเป็นร่องหรือรูบุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง และแบบที่ 3 ได้แก่ แผลเป็นที่มีลักษณะหดรั้งร่วมด้วย โดยจะมีลักษณะดึงรั้งบริเวณแผลให้ผิดรูปได้ การป้องกันแผลเป็น โดยเฉพาะที่แผลใหม่ ๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนวดหรือกดบริเวณนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอในระยะ 3-6 เดือนแรก ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นลดการขยายตัวและนูนเกินได้ แต่ในบางครั้งแผลเป็นที่มีลักษณะใหญ่กว้าง เช่น แผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือผ้ารัด หรือที่เรียกว่า pressure garment โดยจะต้องสวมใส่เพื่อรัดบริเวณที่เกิดแผลเป็นในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีแรกหลังจากได้รับอุบัติเหตุ สำหรับวิธีการรักษาแผลเป็นนั้น ส่วนใหญ่เกิน 95% รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้แผ่นซิลิโคนซึ่งเป็นเจลใส ๆ ปิดไว้บนบาดแผลหลังจากแผลหายดีประมาณ 7 วัน ซึ่งสามารถปิดไว้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน และจะช่วยลดการอักเสบได้ หรือหากวิธีนี้ไม่สะดวกเราสามารถใช้แผ่นเทปเหนียวปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง ส่วนการฉีดยารักษาแผลเป็นด้วยสเตียรอยด์จะใช้กับแผลเป็นแบบคีลอยด์เท่านั้น สำหรับวิธีการรักษาแผลเป็นด้วยการผ่าตัด จะใช้วิธีตัดแผลเป็นออกโดยตรงแล้วเย็บเป็นเส้นตรงหรือตัดเป็นรูปซิกแซก เพื่อให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่ มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง การรักษาแผลเป็นนั้นแพทย์จะพิจารณาว่าเป็นแผลเป็นชนิดใด เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม แต่เราก็สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาแผลเป็นใหม่ๆ ให้ดี เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นที่นูนเกินในอนาคต |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|