อาการย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่สร้างความทุกข์ยากแก่ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่น้อย ซึ่งบางครั้ง เราก็แยกไม่ออกว่าแบบไหน คืออาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือเป็นแค่ความวิตกกังวลธรรมดา ผศ.พญ. สุทธิพร เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ อธิบายว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นอาการคิดหรือทำอะไรซ้ำ ๆ ทั้งที่ไม่อยาก แต่ถ้ามาทำจะเกิดความกลัวหรือวิตกกังวลอย่างมาก อาการย้ำคิดย้ำทำนั้น บางครั้ง อาจเกิดขึ้นได้ในคนปกติเช่น เพิ่งปิดไฟไป แต่อยู่ ๆ กลับมีความคิดว่า เมื่อครู่นี้ ปิดไฟเรียบร้อยหรือยัง หรือคิดว่าสวิทซ์อาจค้างปิดครึ่ง ๆ กลาง ๆ จนต้องมากดสวิทซ์ซ้ำอีก 1 หรือ 2 ครั้งเพื่อลดความกังวล เป็นต้น อาการที่เกิดขึ้นถือเป็นอาการย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไปนาน ๆ ครั้งได้ ซึ่งไม่ถือว่า ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปที่เรียกว่าป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้นั้น อาการที่เกิดขึ้นจะต้องสร้างปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ - อาการเป็นมาก จนเลิกคิดเลิกทำไม่ได้ เพราะทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานอย่างมาก - อาการเหล่านั้น ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันไม่มีความสุขเช่นเดิม เพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำหรือคอยแต่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอาการ - อาการย้ำคิดย้ำทำนั้น ส่งผลให้ต้องหาทางออกซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ต้องดื่มของมึนเมาเพื่อลดความเครียด โกรธและทำร้ายตัวเอง หรือแม้แต่พยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น สาเหตุหลักของอาการในผู้ที่ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ มักเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อาการที่เป็นมักกลัวใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ กลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตัวเองและกลัวว่าตัวเองจะได้รับเชื้อโรค จนทำให้เกิดเจ็บป่วย โดยรู้ตัวว่าสิ่งที่ตนกลัวนั้นไร้สาระ แต่หยุดการย้ำคิดและอดที่จะกลัวไม่ได้และไม่กล้าฝืนที่จะไม่ย้ำทำ สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำนั้น ปัจจุบันมี 2 วิธี คือ วิธีพฤติกรรมบำบัดและการใช้ยา ทั้งนี้ การรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด ทำได้โดยอาศัยหลักการให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวเป็นเวลานาน ๆ (exposure) เมื่อเวลาผ่านไปความกลัวที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ ลดลงเพราะเกิดความชินชา การรักษาด้วยวิธีนี้จะเกิดผลดีก็ต่อเมื่อผู้ป่วยให้ความร่วมมือ อาการต่าง ๆ จะหายได้อย่างรวดเร็วและหายได้ค่อนข้างถาวร ส่วนการรักษาด้วยการใช้ยานั้น จะเป็นยาในกลุ่มยาแก้โรคซึมเศร้าชนิดออกฤทธิ์กับสารสื่อ นำประสาทในสมอง ทั้งนี้ ต้องใช้ยาในขนาดค่อนข้างสูง ใช้เวลานาน อาจรับประทานยาอยู่นานประมาณ 1-2 ปี แต่มีข้อดีคือ สะดวกกว่าการใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด ซึ่งในรายที่เป็นมาก ๆ อาจรักษาด้วยยาไปก่อน เมื่ออาการทุเลาลงจึงค่อยใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดร่วมด้วย โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา รวมทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันกลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง
|