ออกอากาศ : วันที่ 23 กันยายน 2550 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
ยามีผลต่อร่างกายอย่างไร |
บทคัดย่อ:
|
ทุกครั้งที่เรารู้สึกป่วยไข้ไม่สบาย เพื่อให้อาการทุเลาลง การรับประทานยา อาจเป็นสิ่งแรกที่หลายคนคำนึงถึง แต่มีน้อยคนที่จะทราบว่า เมื่อได้รับยาแล้ว ยานั้นทำให้เกิดกระบวนการอย่างไรบ้างต่อร่างกาย ภญ.ฐนิตา ทวีธรรมเจริญ ฝ่ายเภสัชกรรม อธิบายว่า เมื่อผู้ป่วยรับประทานยา จะเริ่มมีกระบวนการต่าง ๆ 4 กระบวนการหลัก เกิดขึ้นในร่างกาย เริ่มต้นจาก การดูดซึมยา (Absorption) เรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ยาผ่านเข้าสู่กระแสเลือดเปรียบเสมือนระบบขนส่งหลักในร่างกาย กระบวนการต่อมา เรียกว่า การกระจายยา (Distribution) เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว กระแสเลือดจะนำยาไปสู่เนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ามีเลือดไปเลี้ยงส่วนนั้น ๆ มากหรือน้อยเพียงใดและเนื้อเยื่อส่วนนั้นยอมรับยาได้มากแค่ไหน กระบวนการที่ 3 เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงหรือการทำลายยา(Metabolism)ทั้งนี้ เมื่อเกิดการกระจายยาไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ แล้ว ส่วนหนึ่งของยาในกระแสเลือดจะถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ที่ตับและอวัยวะอื่น ๆ เกิด เป็นสารใหม่ซึ่งโดยมากจะมีฤทธิ์น้อยกว่ายาเดิม ส่วนกระบวนการสุดท้าย เรียกว่า การขับถ่าย (Excretion) ซึ่งเมื่อมีการทำลายยาแล้วร่างกายจะกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระ ทั้งนี้ กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังผู้ป่วยรับยาเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยาหมดไปจากร่างกาย ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของยาและสภาพร่างกายของผู้ป่วย อีกทั้งกระบวนการเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่า ยาออกฤทธิ์ได้เร็ว ได้นานหรือตกค้างอยู่ในร่างกายเพียงใด และเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลของยาแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยาที่กระจายไปในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะออกฤทธิ์ทำให้เกิดผลของยา ส่วนร่างกายที่มีความเจ็บป่วย ยาจะออกฤทธิ์เปลี่ยนความเจ็บป่วยนั้นให้กลับมาใกล้เคียงกับสภาพปกติ ซึ่งหมายถึงหายจากอาการเจ็บป่วยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม นอกจากยาจะออกฤทธิ์เพื่อรักษาอวัยวะส่วนที่เจ็บป่วยแล้ว ฤทธิ์ของยายังมีผลกับส่วนของร่างกายที่ไม่ได้เจ็บป่วยด้วย ซึ่งเรียกว่า ผลข้างเคียง เช่น อาจง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ กรณีที่ยาเกิดเป็นพิษ เนื่องจากขนาดของยาที่ใช้ ยิ่งใช้มากความเป็นพิษก็ยิ่งเพิ่มขึ้นหรือแม้แต่การใช้ยานาน ๆ ติดต่อกันแม้ในขนาดปกติ จนทำให้อวัยวะนั้นเสื่อมสภาพหรือพิการไป เช่น เกิดภาวะไตพิการ ตับวาย ซึ่งเรามักได้ยินว่า รับประทานยายาเกินขนาดนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีอาการแพ้ยา ซึ่งเป็นอาการที่แสดงเมื่อรับยาชนิดหนึ่งเข้าไปแล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อต้าน ซึ่งในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อรับยาเดิมอีก ยาจะทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกัน จนเกิดอาการแพ้ยาขึ้น อาการมีทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือทันทีทันใดก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าแพ้อย่างรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การรับประทานยาหนึ่งเม็ด อาจส่งผลต่อร่างกายมากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึง ฉะนั้น ทุกครั้งที่รับประทานยาจึงควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และที่สำคัญควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|