บทคัดย่อ:
|
อันตรายจากการถูกไฟฟ้าช็อตหรือไฟดูดเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงควรรู้วิธีป้องกัน และการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้ผู้บาดเจ็บและผู้เข้าไปช่วยเหลือได้รับอันตราย อ.นพ.พรพรหม เมืองแมน ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า ความรุนแรงของการถูกไฟฟ้าดูดหรือช็อตนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนความต่างศักย์ของไฟฟ้า รวมทั้งระยะเวลาที่กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วการถูกไฟฟ้าดูด มักเกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงมากนัก เพราะไฟบ้านมีความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ 220 โวลท์เท่านั้น แต่หากถูกไฟฟ้าแรงสูงที่มีความต่างศักย์ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 โวลท์ดูด อาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่ไหลผ่านหัวใจทำให้คลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลงและทำให้หัวใจหยุดทำงาน บางครั้งอาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ ที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า ผู้ป่วยที่ได้รับกระแสไฟฟ้าแรงสูง ถ้านำส่งโรงพยาบาลได้ทันและได้รับการรักษาที่เหมาะสม อัตราการเสียชีวิตจะลดลง แต่อาจพิการได้ เพราะไฟฟ้าแรงสูงจะไปทำลายเนื้อเยื่ออย่างรุนแรง ทำให้มีเนื้อตายค่อนข้างมาก ส่งผลให้แขนขาบวมตึง ขาดเลือดรุนแรงจนอาจต้องเสียอวัยวะส่วนที่ถูกไฟช็อตนั้นไป สำหรับขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตที่ถูกต้อง คือ ให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ใช้ผ้าแห้งห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดไว้ ที่สำคัญคือ ต้องระวังอันตรายจากการเข้าไปช่วยผู้ป่วยด้วย ถ้าพบแหล่งไฟฟ้ารั่วให้รีบตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน และหาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้าเขี่ยสายไฟออกจากตัวผู้ป่วยก่อนเข้าไปช่วยเหลือ พยายามตรวจดูว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่ส่วนใดเพื่อทำการเคลื่อนย้ายอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรือพิการได้ เมื่อย้ายผู้ป่วยไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ให้ดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ ถ้าหยุดเต้นให้ทำการนวดหัวใจไปพร้อม ๆ กับการผายปอด จากนั้นจึงเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน อย่างไรก็ดีมีข้อห้ามบางประการที่สำคัญคือ ห้ามเข้าไปแตะต้องสัมผัสตัวผู้บาดเจ็บ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้บาดเจ็บมิได้สัมผัสกับสายไฟฟ้า ในกรณีที่ไม่มีความรู้เรื่องการตัดกระแสวงจรไฟฟ้า ให้รีบตามคนมาช่วย จะดีที่สุด อันตรายจากไฟฟ้าช็อตสามารถป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท |