ออกอากาศ : วันที่ 26 สิงหาคม 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: โรคไส้เลื่อนในเด็ก
บทคัดย่อ:

โรคไส้เลื่อนไม่ใช่เกิดแต่ในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสเกิดกับเด็กในทุกช่วงอายุ โดยเด็กผู้ชายมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กผู้หญิง รศ.นพ.รวิศ  เรืองตระกูล  ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า ไส้เลื่อนขาหนีบ คือ ภาวะที่อวัยวะในช่องท้องเลื่อนลงไปในถุงของเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมาตรงขาหนีบ  โรคไส้เลื่อนในเด็กเกิดได้ในทุกช่วงอายุ โดยมักเกิดขึ้นในข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่าเด็กที่ครบกำหนด อันตรายของไส้เลื่อนจะเกิดขึ้นเมื่อลำไส้เคลื่อนที่ลงมาในถุงไส้เลื่อนและมีการติดค้างของขดลำไส้  ทำให้เกิดการอุดกั้นของเลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ที่ติดคาอยู่   ลำไส้ก็จะเน่าตาย นอกจากนี้ขดลำไส้ที่ติดคาอยู่ยังไปกดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอัณฑะ ทำให้อัณฑะฝ่อตัวในเวลาต่อมา อาการของเด็กที่เป็นโรคนี้ คือ จะพบก้อนบริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวเหน่าเข้า ๆ ออก ๆ จะสังเกตเห็นได้ชัด เวลาเด็กเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ ก้อนที่ออกมานี้จะยุบหายไปเมื่อเด็กนอนหลับ    การตรวจร่างกายจะพบว่ามีก้อนออกมาหลังการเบ่ง โดยจะเห็นเป็นก้อนนูนจากข้างหัวเหน่าลงไปในถุงอัณฑะของผู้ชายหรือข้างหัวเหน่าในผู้หญิง บางครั้งผู้ปกครองสามารถดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ โดยปกติแล้วไส้เลื่อนมักจะยุบเข้าออกได้เอง แต่ในบางครั้งอาจจะเกิดการติดคาของอวัยวะภายในถุงไส้เลื่อนซึ่งเรียกว่า ไส้เลื่อนติดคา โดยทั่วไปแพทย์สามารถดันอวัยวะกลับเข้าไปในช่องท้องได้  แต่หากลำไส้ติดคาอยู่นานจนเกิดการเน่าตาย ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน  การผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กนั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะไม่ได้ผ่าตัดเข้าไปในช่องท้องเพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น  ผู้ปกครองหลายท่านประวิงเวลาให้ผ่าตัดเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แพทย์จึงแนะนำให้รีบทำการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนทันทีเมื่อผู้ป่วยพร้อมการผ่าตัดไส้เลื่อนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถออกไปพักฟื้นที่บ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ดังนั้นผู้ปกครองที่สงสัยว่าบุตรหลานของตนจะเป็นไส้เลื่อน ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ครับ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช