ออกอากาศ : วันที่ 5 สิงหาคม 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: สารพัดเรื่องปวดหัว
บทคัดย่อ: อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ รับประทานยาแก้ปวด อาการก็อาจจะหายไป  แต่บางครั้งอาการปวดหัวอาจเป็นอาการร่วมของโรคอื่น ๆ ได้  ศ.นพ.นิพนธ์  พวงวรินทร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า อาการปวดหัวที่พบได้ทั่วๆไป คือปวดตึงท้ายทอยเวลาเครียด หลังการทำงานหนัก ก็เป็นการปวดหัวธรรมดาๆ  แต่ถ้าเป็นการปวดหัวซึ่งเป็นอาการร่วมของโรคอื่น ๆ นั้นเรามีวิธีสังเกตได้  โดยสังเกตว่าปวดหัวมานาน แล้วหรือยังและปวดหัวอย่างไร อย่างแรกคือดูว่าปวดหัวมานานแล้วหรือยัง  เช่น  ปวดระยะสั้น และปวดรุนแรง อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง หรือเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะถ้าคอตึงแข็งหรืออาเจียน  อาจจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักมีไข้ร่วมด้วย หรือโรคเกี่ยวกับตา ซึ่งมักปวดในกระบอกตา หรือตามัวอื่น ๆ เช่น ความดันสูงมากเฉียบพลัน ปวด     สม่ำเสมอเหมือนเดิม และปวดนาน มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับปวด จากความตึงเครียด ปวดไมเกรน ลักษณะของอาการปวดหัวที่ต้องสังเกต  อีกอย่างหนึ่ง คือปวดอย่างไรและมีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น  ปวด  หน้าผาก มีน้ำมูก อาจจะเป็นการปวดจากไซนัสได้  ปวดแปลบ ๆ เหมือนไฟช็อต ที่หน้า แก้ม โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาจจะเป็นอาการของปลายประสาทอักเสบ  ปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามัวมากขึ้น หรือเห็นภาพซ้อน เดินเซ  อ่อนแรง มีอาการชา น้ำหนักลด รับประทานอาหารไม่ได้   อาจจะเป็นโรคมะเร็งสมอง  ปวดหัวตุบ ๆ ข้างเดียวหรือสองข้าง ก่อนปวดมีอาการเห็นแสงแปลก ๆ คลื่นไส้ เป็นอาการปวดไมเกรน  ปวดทันทีที่ท้ายทอย และมีอาการ เวียนหัว อาเจียน และอ่อนแรงทันที อาจเป็นอาการของหลอดเลือดสมองแตกได้  ปวดหัวและปากเบี้ยวตาปิดไม่สนิท อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีกอาจเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ  ปวดมากที่ขมับ ปวดเมื่อยทั้งตัว ในคนอายุมาก อาจเป็นอาการของหลอดเลือดสมองอักเสบ  หากมีอาการปวดหัวดังกล่าว  ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคและรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช