ออกอากาศ : วันที่ 17 มิถุนายน 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย
บทคัดย่อ: ปัญหาการฆ่าตัวตายเริ่มพบมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะมีสาเหตุมาจากอะไร และจะมีวิธีการอย่างไรไม่ให้เราเกิดความคิดฆ่าตัวตาย ผศ. นพ.พนม  เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยคิดอยากจะฆ่าตัวตาย  ส่วนใหญ่เกิดจากโรคซึมเศร้า มีความรู้สึกเบื่ออย่างรุนแรงทุกอย่างในชีวิต ซึ่งความเศร้าที่รุนแรงมากๆ อาจทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตนเองผิด ไร้ค่า และคิดอยากฆ่าตัวตาย สำหรับอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า  สามารถสังเกตได้ไม่ยาก คือผู้ป่วยจะไม่สนุกสนานร่าเริงเหมือนเดิม มีอารมณ์เครียด หงุดหงิด เศร้าหมอง ไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คิดว่าตัวเองไร้ค่าและอยากฆ่าตัวตาย  อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการฆ่าตัวตายอาจจะไม่ได้มาจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาความเครียดในชีวิต เช่น ปัญหาเรื่องการเรียน การทำงาน  หรือสูญเสียสิ่งที่รักในชีวิต  นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มักไม่ยอมมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องอีกด้วย  ในส่วนของวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าเพื่อช่วยแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น สามารถรักษาได้ไม่ยาก เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการแปรปรวนของสารสื่อนำประสาท ที่สามารถ แก้ไขได้ด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 80 รักษาให้หายได้เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ ซึ่งเมื่อหายป่วยแล้วก็จะกลับมาเป็น ปกติเหมือนเดิม เนื่องจากโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิตหรือโรคประสาท แต่เป็นโรคทางอารมณ์ที่สามารถรักษาให้หายได้เหมือนเดิม หากเราสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น ซึมเฉย เงียบ ไม่พูดไม่จา เฉื่อยชาเชื่องช้า ทำอะไรผิดไปจากเดิมมากๆ การเรียนหรือการทำงานเสียไป เราควรให้ความห่วงใยสอบถามถึงอาการของโรคซึมเศร้า เพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น ทำให้คนที่กำลังซึมเศร้ารู้สึกว่ามีเพื่อน มีที่พึ่งจะทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นตามลำดับ และไม่คิดอยากฆ่าตัวตายในที่สุด หากพบว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า ให้รีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช