ออกอากาศ : วันที่ 10 มิถุนายน 2550 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
ตา....กับสารพัดต้อ |
บทคัดย่อ:
|
เมื่อคนเราเข้าสู่วัยสูงอายุ สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ตาจะเริ่มเสื่อมลง จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตาเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที รศ.พญ. ละอองศรี อัชชนียะสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา อธิบายว่า โรคตาที่พบบ่อยมีอยู่ 3 ชนิด คือ ต้อเนื้อ ต้อกระจกและต้อหินซึ่งทั้ง 3 ชนิดนั้นมีอาการและลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้ ต้อเนื้อ คือ เยื่อ ตาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหนาตัวขึ้น จะเห็นเป็นเนื้อสีแดงเรื่อ ๆ ยื่นเข้าไป บนกระจกตา ส่วนใหญ่พบทางด้านหัวตามากกว่าหางตาคนที่ทำงานกลางแจ้งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต้อเนื้อมากกว่าผู้ที่ทำงานในร่ม หากเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพแต่ยังไม่ลามเข้าไปบนกระจกตา เห็นเป็นเนื้อนูน ๆ ที่ขอบกระจกตาจะเรียกว่า ต้อลม การรักษานั้น หากไม่เป็นมากและเนื้อเยื่อไม่อักเสบ จะรักษาด้วยการใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อไม่ให้ตาแห้ง หลีกเลี่ยง แสงแดดหรือลมกระทบตาตรง ๆ กรณีที่ต้องผ่าตัดจะทำเมื่อเนื้อเยื่อลามเข้าไปบนกระจกตามากจนบังสายตา หรือทำให้ตามัวลง ต้อกระจก คือ เลนส์ตาหรือแก้วตาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากความเสื่อมตามธรรมชาติแสงผ่านได้ยาก ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัวส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุของภาวะสายตาพิการที่พบบ่อยที่สุด ในรายที่โรคไม่รุนแรงอาจใส่แว่นสายตาช่วยให้มองเห็นภาพชัดขึ้น แต่หากเป็นมากหรือที่เรียกว่า ต้อสุก ผู้ป่วยจะมองเห็นเพียงเงาลาง ๆ หรือเห็นเพียงแสงเท่านั้น การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดร่วมกับการใส่เลนส์ตาเทียม ปัจจุบันใช้คลื่นเสียงในการสลายต้อ ทำให้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลงและไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล ต้อหิน คือ ภาวะที่ความดันในตาสูง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ต้อหิน ชนิดมุมเปิด ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง และต้อหินชนิดมุมปิด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดงและมัวลงอย่างเฉียบพลัน อาจปวด ศีรษะและปวดตาเรื้อรัง โรคต้อหินเป็นโรคที่อันตรายและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้ตาบอดได้ แม้จะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคต้อได้ แต่สามารถ รักษาและควบคุมโรคได้ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จึงควรไปรับการตรวจตาและวัดความดันตาประจำปี |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|