ผู้ที่มีอาการปวดหูหรือเจ็บหูหลังจากเช็ดหูหรือแคะหู อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าหูชั้นนอกมีการอักเสบ ซึ่งหากเป็นมาก ๆ อาจรุนแรงจนลุกลามเข้าไปยังหูชั้นกลางได้ ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อธิบายว่า โดยปกติแล้ว รูหูส่วนนอกจะทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคไม่ให้ผ่านเข้าไปในหู โดยจะสร้าง ขี้หูขึ้นมาเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและ เชื้อรา การที่เราพยายามแคะหรือเขี่ยขี้หูออก จะทำให้สารเคมีที่ทำหน้าที่ ปกป้องและไขมันที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังของรูหูเสียหน้าที่ไปมีหลายสาเหตุที่ทำให้การทำงานของหูชั้นนอกเสื่อมลง เช่น การล้างหูด้วยสบู่บ่อย ๆ ทำให้ขี้หูถูกละลายออกไป จนเกิดภาวะเป็นด่างในรูหูส่วนนอก เชื้อโรคจึงเจริญเติบโตได้ดี ความเครียดทางอารมณ์ก็มีส่วนเช่นกันบางคนแคะหูโดยใช้นิ้วมือหรือวัตถุต่าง ๆ ทำให้เกิดรอยถลอกเป็นแผลขึ้นในหู และอาจอักเสบได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคทางระบบอื่น ๆ เช่น โรคเลือด โรคขาดวิตามิน โรคของระบบต่อมไร้ท่อและโรคผิวหนังบางชนิด ก็อาจทำให้ระคายเคืองและเกิดการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้ อาการที่บ่งบอกว่าหูชั้นนอกอักเสบ คือ มีอาการคัน ระคายเคือง ปวดหู หูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู สิ่งที่สังเกตเห็นคือ ผิวหนังของรูหูส่วนนอกจะบวมแดงเฉพาะที่ อาจเห็นเป็นหัวฝีหรือบวมทั้งหมด พบหนองที่มีมีกลิ่นเหม็นภายในหู เวลาเคลื่อนไหวใบหูจะมีอาการเจ็บมาก อาจพบต่อมน้ำเหลือง บริเวณหน้าหรือหลังหู ในรายที่เป็นมาก อาจทำให้ใบหูยื่นไปข้างหน้ากระดูกหูบวมแดงและกดเจ็บ หรือมีอาการอัมพาตของเส้นประสาทสมองบางเส้นได้ วิธีการรักษา คือ ทำความสะอาดรูหูโดยใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดเบา ๆ อย่างนุ่มนวล หรือใช้เครื่องดูดของเหลวดูดหนองออก รับประทาน ยาต้านจุลชีพ ซึ่งไม่ควรซื้อมารับประทานเอง หากรูหูส่วนนอกบวมมาก แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็ก ๆ ชุบยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวม ในรายที่ เป็นมากอาจต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล การป้องกันหูชั้นนอกอักเสบที่ดีที่สุด คือ ไม่แคะหรือเขี่ยขี้หูออก และไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง เพราะ อาจแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
|