ออกอากาศ : วันที่ 27 พฤษภาคม 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: การปลูกถ่ายอวัยวะ
บทคัดย่อ:     ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะได้ช่วยให้ผู้ป่วย หลายคนมีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายมากอย่างที่เราเข้าใจกัน  ผศ.นพ.ธวัชชัย  ทวีมั่นคงทรัพย์  ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายว่า   โรงพยาบาลศิริราชมีการให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการเปลี่ยนอวัยวะให้กับผู้ป่วย ประกอบด้วย การเปลี่ยนไต ตับหัวใจ ปอด ตับอ่อน กระจกตา และไขกระดูก  ซึ่งการปลูกถ่ายไตมีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษามากที่สุด  สำหรับการปลูกถ่ายไตนั้น ผู้บริจาคไตให้กับผู้ป่วยจะต้องมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด ได้แก่ บิดา มารดา บุตร ธิดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ลุง ป้า น้า อา หลาน ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรก หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดา มารดา  ส่วนสามี ภรรยา จะต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรส จนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไตไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้นกรณีที่มีบุตรด้วยกันที่ สามารถทำการตรวจพิสูจน์ได้  ทั้งนี้ ผู้บริจาคไตจะต้องไม่ถูกบังคับ หรือ ได้รับอามิสสินจ่างทั้งทางตรงและทางอ้อม และผู้บริจาคไตจะต้องได้รับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์เห็นสมควร  นอกจากนี้ ยังมีไตจากผู้บริจาค  ที่เสียชีวิตแล้วที่จัดสรรโดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยอีกด้วยในส่วนวิธีการปลูกถ่ายไตนั้น จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเหมือนปกติ ไม่ต้องเสียเวลาฟอกไต ตลอดจนมีการทำงานของไตที่ใกล้เคียงปกติ และสามารถหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการฟอกไตได้ดีกว่า  แต่อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไตก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  ในระหว่างการผ่าตัดอีกด้วย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในระหว่างทำการผ่าตัดประมาณ 150,000 - 300,000 บาท และหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะต้องใช้ยาป้องกันการปฏิเสธอวัยวะอีกประมาณ 15,000 - 30,000 บาท ต่อเดือนตามความจำเป็นในการใช้ยา ซึ่งจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิต  อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะเข้ารับการปลูกถ่ายไต สามารถติดต่อ ขอรับคำแนะนำได้ที่งานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช ที่ตึก 84 ปี ชั้น 2 โรงพยาบาล ศิริราช โดยจะต้องมีการส่งใบสมัคร  การตรวจร่างกาย เพื่อให้อายุรแพทย์    พิจารณาตามความเหมาะสมในการปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วยอีกด้วย

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช