ออกอากาศ : วันที่ 13 พฤษภาคม 2550  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: ไข้หวัดใหญ่กับผู้สูงอายุ
บทคัดย่อ:    อาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาลและในคน     ทุกเพศทุกวัย แต่การป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุจะมีความแตกต่างกับคนในวัยอื่นอย่างไร รศ.นพ.รุ่งนิรันดร์  ประดิษฐสุวรรณ  ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า อาการไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก ทั้งนี้ เชื้อโรคจะมาทางละอองน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วย โรคนี้สามารถติดต่อกันทางการหายใจ การสัมผัสสิ่งปนเปื้อน เช่น โทรศัพท์สาธารณะ แก้วน้ำ และการเอามือไปสัมผัสเชื้อแล้วมาขยี้ตา หรือ เอาเข้าปาก   โดยภายหลังจากการรับเชื้อ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอแห้งๆ ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลียมาก แล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 5-7 วัน  สำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่  จะมีอาการหนักกว่า เช่น เป็นไข้ ซึมลง ไม่กินอาหาร นอนซม และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ระบบอื่นสูงกว่าคนวัยอื่น เช่น เยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื้อหุ้มสมองและสมองอักเสบ หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น ทำให้มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวม ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการต่างๆ ทันที ใน ประเทศไทย โรคไข้หวัดใหญ่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เพราะสภาพอากาศมีความชื้นและเย็น ซึ่งเอื้อต่อการกระจายเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากผู้สูงอายุปล่อยให้ร่างกาย อ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะมีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากผู้สูงอายุ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ออกกำลังกายหักโหม อาบน้ำอุ่น กินอาหาร  อ่อน ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ และรักษาตนเองตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก แต่ไม่จำป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ  และที่สำคัญให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูก เวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น  ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
หรือหากหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกัน โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช