ออกอากาศ : วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 |
เรื่อง:
|
โรคปอดบวมในเด็ก |
บทคัดย่อ:
|
ทุกวันนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เด็กๆ เป็นโรคปอดบวมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเกิดจากสาเหตุใดบ้าง และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร ผศ.นพ.จักรพันธ์ สุศิวะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อธิบายว่า ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยเป็นโรคปอดบวมถึงร้อยละ 42 เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียโดยเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมจะมีอาการไข้ ไอ และหอบ ยกเว้นปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบางชนิด จะมีอาการไข้ ซึ่งการที่เด็กหอบอาจเริ่มจากการหายใจเร็วกว่าปกติตามเกณฑ์อายุ เช่น เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป จะหายใจเร็วมากกว่า 60 ครั้ง ต่อนาที หรือเด็กอายุ 2 เดือน ถึง 1 ปี จะหายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที หรือเด็กอายุ 1-5 ปี จะหายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที ซึ่งต่อมาเด็กจะมีอาการหายใจลำบาก หายใจอกบุ๋ม หายใจแล้วจมูกบาน ซึ่งในรายที่เป็นมากจะพบว่าริมฝีปากเขียวหรือหายใจมีเสียงกลั้นลมหายใจ ทั้งนี้ ในเด็กเล็กที่เป็นปอดบวม อาจมีอาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น ไม่ยอมดูดนม เซื่องซึม หรือหยุดหายใจ เป็นต้น สำหรับวิธีการรักษานั้น ในรายที่อาการไม่รุนแรง แพทย์ จะให้กินยาปฏิชีวนะ และเมื่อกินยาครบ 2 วัน ผู้ปกครองควรนำเด็กกลับมาตรวจอีกครั้ง ซึ่งหากอาการดีขึ้นแพทย์จะให้กินยาจนครบ 7-10 วัน แต่หากไม่ดีขึ้นจะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาแบบปอดบวมชนิดรุนแรงต่อไป นอกจากนี้ การดูแลรักษาทั่วไปแพทย์ก็ให้ความสำคัญ เช่นกัน อาทิ การให้สารน้ำอย่างเพียงพอ จัดให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่ มีอาการหอบ ท้องอืด กินอาหารไม่ได้ โดยแพทย์จะพิจารณาให้สารน้ำทาง หลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการตัวเขียว หายใจเร็ว หอบชายโครงบุ๋ม กระวนกระวายหรือซึม แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจน และในส่วนของผู้ป่วยที่ฟังปอดแล้วได้ยินเสียงคล้ายแมวร้องในอก หรือตรวจพบว่ามีการตอบสนองที่ดีต่อการให้ยาพ่นขยายหลอดลม แพทย์จะให้ยาขยายหลอดลมในทันที อย่างไรก็ตามในรายที่เป็นปอดบวมรุนแรงจนมีภาวะระบบหายใจล้มเหลวจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก วัณโรค และโรคซาร์สเป็นต้น ทั้งนี้ มีวิธีช่วยลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจไปยังบุคคลอื่นได้ด้วยการให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมืออยู่เสมอ เนื่องจากเวลาไอหรือจามผู้ป่วยจะใช้มือป้องปาก ซึ่งจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่มาก ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลสุขภาพ บุตรหลานให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พาไปรับการฉีดวัคซีนตามกำหนด และพักผ่อนให้เพียงพอ |
|
กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช
|