ออกอากาศ : วันที่ 26 มิถุนายน 2548  เวลา 13.50 น. (โดยประมาณ) ณ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
เรื่อง: แมงดาทะเล...กินแล้วอาจตายได้
บทคัดย่อ: แมงดาทะเลในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย และแมงดาจาน การบริโภค แมงดาทะเลให้ปลอดภัย จึงต้องรู้จักชนิดและความแตกต่างของแมงดาทั้ง 2 ชนิด  ผศ.นพ.ธีระ  กลลดาเรืองไกร  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  อธิบายว่า ความแตกต่างระหว่างแมงดาถ้วยและแมงดาจานที่สังเกตได้ คือขนาดตัว และลักษณะหาง  แมงดาจานจะมีหน้าตัด  หางเป็นรูปสามเหลี่ยม สันหางมีหนามคมและมีขนาดใหญ่ส่วนแมงดาถ้วย  ซึ่งเป็นชนิดที่มีพิษต่อร่างกายจะมีหางกลม มน  สันหางเรียบ ชาวประมงส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อที่ผิด คิดว่าแมงดาถ้วยที่ไม่มีลักษณะของเหรา คือตัวมีสีแดงและมีขน เป็นชนิดที่ปลอดภัย แต่จริง ๆ แล้วลักษณะภายนอกของแมงดาถ้วยไม่ว่าจะเป็นเหราหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่สามารถ บอกได้ว่ามันมีพิษสะสมอยู่หรือไม่ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาถ้วยทุกชนิด  ลักษณะพิษของแมงดาทะเลจะคล้ายคลึงกับพิษอัมพาตที่เป็นพิษทางระบบประสาท โดยจะเกิดอาการชาตามปลายนิ้วมือ แขน  ขา ทำให้เคลื่อนไหวลำบากเหมือนคนเป็นอัมพาต ผู้ป่วยอาจมีอาการอาเจียน ชักกระตุก และเสียชีวิตในที่สุด ปัจจุบันยังไม่มียารักษาพิษของแมงดาทะเล แพทย์จึงต้องรักษาตามอาการแบบประคับประคอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยหายใจอย่างถูกต้องและทันท่วงที เพราะคนไข้ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตเนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจหยุดทำงานข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันพิษจากแมงดาทะเล คือ หลีกเลี่ยงการบริโภคไข่แมงดา ไม่ว่าจะมีลักษณะเหราหรือไม่ก็ตาม และเมื่อเกิดอาการพิษให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หากผู้ปฐมพยาบาลมีความรู้เรื่องการเป่าปากช่วยชีวิต ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดมากขึ้น

กลับสู่หน้ารายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช