แผนยุทธศาสตร์
แผนยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2558 - 2562
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
1. ยกระดับการศึกษาแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพให้แข่งขันได้ในระดับสากล
2. เพิ่มผลงานตีพิมพ์และชื่อเสียงด้านวิชาการในระดับนานาชาติ
3. ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผู้นำของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์
4. พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนให้คณะฯเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
5. ยกระดับบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูง และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
6. เสริมสร้างภาพลักษณ์ สื่อสารองค์กร สร้างและแสดงความเป็นผู้นำเครือข่ายด้านสุขภาวะในกลุ่มโรงเรียนแพทย์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์หลัก 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
-
ยุทธศาสตร์ที่ 1
ความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน (Teaching and Learning Excellence)
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
เพื่อยกระดับการศึกษาแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพให้แข่งขันได้ในระดับสากล ในปี 2561
กลยุทธ์
ยกระดับหลักสูตรสู่มาตรฐานสากล (Leverage Curricula towards International Standards) เพื่อยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยกำหนดให้หลักสูตรแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ตามมาตรฐานสากล ดังนี้
หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ผ่านตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานสากล Basic Medical Education ตามเกณฑ์ของ World Federation for Medical Education (WFME) ในปี พ.ศ. 2559
หลักสูตรปริญญาตรีและหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่ ปริญญาโทและปริญญาเอก ผ่านตามเกณฑ์การประเมินของ ASEAN University Network (AUN-QA) ในปี พ.ศ. 2561 สำหรับหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทและปริญญาเอกผ่านการประเมินและได้รับรองมาตรฐานในปี พ.ศ. 2562
หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านมีมาตรฐานการเรียนการสอนตามเกณฑ์ Postgraduate Medical Education ของ World Federation for Medical Education (WFME) ในปี พ.ศ. 2561
รวมทั้งการเพาะบ่มคุณลักษณะ S-K-I-L-L-S ได้แก่ จิตวิญญาณของการเป็นแพทย์ (Soul) ความรู้ของวิชาชีพแพทย์ (Knowledge) ทักษะการใช้ข้อมูล สื่อ เทคโนโลยี (Information) การเรียนรู้และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Learning) ความเป็นผู้นำ (Leader) และทักษะทางวิชาชีพ (Skills) ในผู้เรียน พัฒนาระบบการประเมิน จัดระบบการพัฒนาทักษะของนักศึกษา สร้างหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) Dual degree หรือ Joint Degree ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ส่งเสริมการวิจัยด้านแพทยศาสตร์ศึกษา ส่งเสริมการจัดตั้งหลักสูตรนานาชาติ ส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา พัฒนาความเป็นสากลภายใต้บริบทความเป็นไทย และการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและสังคมโลก
-
ยุทธศาสตร์ที่ 2
ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและวิชาการ (Research and Academic Excellence)
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
เพื่อเพิ่มผลงานตีพิมพ์และการอ้างอิงในระดับนานาชาติและความมีชื่อเสียงด้านวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
กลยุทธ์
1. สร้างระบบสนับสนุนพื้นฐานเพื่อความเป็นเลิศของการวิจัยแบบครบวงจร
(ห้องปฏิบัติการ - การบริการรักษา - สังคม (Create a research infrastructure to excel bi-directional research (bench - bedside community)
2. ส่งเสริมองค์กรให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก (Promote International Visibility and Global Presence)
เพื่อความเป็นเลิศด้านการวิจัยและเป็นผู้นำการวิจัย สร้างระบบสนับสนุนพื้นฐานการวิจัยอย่างครบวงจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานวิจัย มุ่งเป้างานวิจัยแบบสหสาขาวิชา งานวิจัยแบบแปลงานวิจัยพื้นฐานสู่งานวิจัยคลินิก และสู่งานวิจัยเพื่อสังคม เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ไปใช้ประโยชน์ในระดับชาติ และผลักดันงานวิจัยด้านนโยบาย พัฒนาระบบการบริหารนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาและแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนอย่างครบวงจร สร้างเครือข่ายวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมเครือข่ายวิจัยและผลิตผลงานวิจัยร่วมกับสถาบันทางการแพทย์ระดับโลก รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งหลักสูตรการอบรมระยะสั้นระดับนานาชาติ และการจัดตั้งศูนย์ Siriraj Academic Community Enterprise (SiACE) เพื่อเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการนำความร่วมมือของเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ โดยมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรสายวิชาการระหว่างคณะฯกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกให้มาบรรยาย สอนแสดงและเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการจัดสรรทุนสนับสนุนให้บุคลากรไปนำเสนอบทความทางวิชาการในเวทีต่างๆเพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและเกียรติภูมิของคณะฯ ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
-
ยุทธศาสตร์ที่ 3
ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ (Innovation Healthcare Service Excellence)
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผู้นำของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในระดับภูมิภาคเอเชียในปี 2561
กลยุทธ์
1. พัฒนาและผลักดันศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ การวิจัยและการศึกษา (Develop & Enable Integrated Center of Excellence in Services, Research and Education)
2. เพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางการแพทย์ (Increase Hospital Efficiency)
เพื่อพัฒนา ผลักดันและยกระดับศูนย์การบริการทางการแพทย์ภายในคณะฯ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากลเพื่อตอบสนองต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่สร้างพลวัตรของความเป็นเลิศ นวัตกรรมบริการทางการแพทย์ ชี้นำมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลแก่สังคม และเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยจัดตั้งเป็น ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ การวิจัยและการศึกษา (Integrated Center of Excellence, iCOE) แนวคิดพื้นฐานของศูนย์บูรณาการฯ คือ 1) มีความร่วมมือของสหสาขาวิชาการทางการบริการทางการแพทย์ 2) บูรณาการร่วมกับพันธกิจด้านการวิจัยที่ต้องมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ 3) เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ของคณะฯ ทั้งการแลกเปลี่ยนวิชาการและการฝึกอบรม 4) พัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์และรับใช้สังคม 5) พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง 6) ผลการดำเนินการที่เป็นเลิศด้านคุณภาพด้านการรักษาและการบริการ นำมาซึ่งรายได้ที่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน โดยคณะฯ จะทำการประเมินศักยภาพของศูนย์บริการทางการแพทย์ต่างๆ โดยผ่านขั้นตอน ดังนี้
ประเมินศักยภาพศูนย์การบริการทางการแพทย์ โดยการประเมิน วิเคราะห์ศักยภาพและหาโอกาสในการพัฒนาศูนย์ดังกล่าว เพื่อยกระดับและนำไปสู่ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ การวิจัยและการศึกษา (Integrated Center of Excellence, iCOE)
จัดทำแผนการพัฒนา แผนงบประมาณ แผนทรัพยากรและกำลังคน แผนการเติบโต แผนกลยุทธ์การดำเนินงาน แผนบูรณาการด้านการวิจัยและการศึกษา แผนการติดตามและประเมินผลของศูนย์บูรณาการดังกล่าว
ประเมินความเป็นไปได้ในการลงทุน และความคุ้มค่าของโครงการ
ดำเนินการตามแผนพัฒนาที่ได้กำหนดไว้
ประเมินและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สำหรับศูนย์การบริการทางการแพทย์ที่ประเมินแล้วยังอยู่ในช่วงการพัฒนาศักยภาพ (Potential Center)นั้นคณะฯกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการดังนี้ 1) คุณภาพในการให้บริการทางการแพทย์ 2) ความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ใช้บริการ 3) ความอยู่รอดทางการเงิน 4) การเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ 5) ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยในการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับให้ศูนย์การบริการทางการแพทย์ดังกล่าว เป็นศูนย์ที่มีประสิทธิภาพสูง (High Performance Organization)และนำไปสู่ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ การวิจัยและการศึกษา (Integrated Center of Excellence, iCOE) ต่อไป
-
ยุทธศาสตร์ที่ 4
องค์กรที่มีการบริหารจัดการเป็นเลิศอย่างยั่งยืน (Management Excellence and Sustainability)
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนให้คณะฯ เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง (High Performance Organization)สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2561
กลยุทธ์
1. บริหารการเงินเพื่อความยั่งยืน (Leverage Financial Sustainability)
2. ขับเคลื่อนองค์กรด้วยระบบสารสนเทศ (Develop IT -driven Organization)
3. ส่งเสริมธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ (Enhance Good Governance & Management Excellence)
การบริหารจัดการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งในด้านการเงิน การคลัง การงบประมาณ การพัสดุ การบริหารทรัพย์สิน โดยรักษาความมั่นคงและสมดุลระหว่างรายจ่ายและรายได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร จัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรการจัดทำแผนแม่บทด้านสารสนเทศที่สำคัญ การส่งเสริมธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ ด้วยข้อมูลการบริหารจัดการผลการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ ผลการดำเนินงานของระดับคณะฯจนถึงระดับภาควิชา กระบวนการตรวจสอบภายในและระบบริหารความเสี่ยง และการบูรณาการการจัดการองค์กรตามมาตรฐานสากลด้วยเกณฑ์ TQA เพื่อสนับสนุนให้คณะฯ เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศ โดยผ่านการรับรอง TQC ในปี พ.ศ. 2559 และผ่านการรับรอง TQA ในปี พ.ศ. 2562
-
ยุทธศาสตร์ที่ 5
องค์กรที่บุคลากรมีความผูกพันและมีประสิทธิภาพสูง (High Engagement and High Performance Organization)
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
ยกระดับบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงและเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
กลยุทธ์
1. ยกระดับสู่การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง (Implement Performance driven Organization)
2. สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ (Enhance Learning Organization towards Excellence)
กำหนดความสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ต่างๆ มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล วิเคราะห์และกำหนดอัตรากำลัง ขีดความสามารถของบุคลากรที่เหมาะสม เสริมสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน เน้นการทำงานเพื่อส่วนรวม ปลูกฝังวัฒนธรรมศิริราช สร้างบรรยากาศในการทำงานที่สมดุลให้เกิดความสุขและสร้างความผูกพันต่อองค์กรและผลงาน การพัฒนาความสามารถของบุคลากรและระบบการประเมินผลระดับภาควิชา หน่วยงานการจัดทำแผนการสืบทอดตำแหน่งและผู้สืบทอดตำแหน่ง การพัฒนาระบบบริหารบุคลากร ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามผลงานหรือความสามารถ และธำรงรักษาบุคลากรที่มีขีดความสามารถสูง เสริมสร้างคณะฯ ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อความเป็นเลิศ โดยมีการพัฒนาปรับปรุงและสร้างนวัตกรรมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
-
ยุทธศาสตร์ที่ 6
องค์กรที่มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม (Effective Corporate Communication and Social Responsibility)
วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์
เสริมสร้างภาพลักษณ์ สื่อสารองค์กร สร้างและแสดงความเป็นผู้นำเครือข่ายด้านสุขภาวะ ในปี พ.ศ. 2562
กลยุทธ์
1. เสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสารองค์กร (Refine Corporate Image and Communications)
2. สร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม(Reinforce Corporate Social Responsibility)
เพื่อเสริมสร้างและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้อุปการคุณซึ่งประกอบด้วยผู้อุปการะ ผู้บริจาคเงิน ผู้บริจาคโลหิต สื่อมวลชน ผู้ทำคุณประโยชน์และศิษย์เก่า เพื่อนำพลังจากผู้อุปการะดังกล่าวมาสนับสนุนในการทำกิจกรรมของคณะฯ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งการประเมินประสิทธิภาพการรับรู้ของการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยการสื่อสารภายในองค์กรเน้นการพัฒนาความร่วมมือของภาควิชา/ หน่วยงานภายในองค์กร ผ่านโครงการ "รวมพลคนทำสื่อ" เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารในระดับภาควิชา/หน่วยงานกับระดับคณะฯ การพัฒนาช่องทางในการสื่อสารผ่านSiriraj Channel, Application SI Channel ต่อบุคลากรทุกระดับ รวมทั้งการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำงาน โดยดำเนินโครงการที่เป็นแบบอย่างด้านนโยบายสาธารณะหรือชี้นำสังคม ซึ่งคณะฯเป็นแกนหลักระดมความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ภาคส่วนต่างๆ และชุมชนโดยรอบ เผยแพร่วิทยาการด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการ และการบริการสุขภาพสู่สังคมให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงของประเทศทางด้านสุขภาวะผ่านโครงการ "ศิริราชสานสองวัย" ซึ่งนำแนวคิดในการดูแลผู้ป่วยผ่านวัยผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ โดยจัดทำโครงการนำร่อง "บางกอกน้อยโมเดล" เพื่อบูรณาการแนวคิดกับบริบทของชุมชนเมือง ที่คณะฯทำหน้าที่ประสานและเชื่อมโยง การใช้วิชาการเป็นแนวทางการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในด้านสุขภาพ สามารถดูแลตัวเองได้ นำไปสู่การเป็น "ชุมชนต้นแบบสุขภาวะเขตเมือง" โดยระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตำรวจ ผู้นำชุมชน กรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งเน้นความร่วมมือและการพัฒนาเชิงระบบระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง
แผนที่กลยุทธ์

