รศ.วรรณะ มหากิตติคุณไรับพระราชทานรางวัล โครงการดีเด่นของชาติ

        เรื่องเล่าครั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับ รศ.วรรณะ  มหากิตติคุณ ภาควิชาปรสิตวิทยา ที่ได้รับพระราชทานรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปีพุทธศักราช 2555 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
        รศ.วรรณะ  มหากิตติคุณ ได้รับรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากผลงาน โครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงไรฝุ่นจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์แบบยั่งยืน โดยเมื่อปี 2540 ได้ริเริ่มเพาะเลี้ยงไรฝุ่นขึ้นในห้องปฏิบัติการภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 2 สายพันธุ์ๆ ละ 1 ขวด เพื่อใช้ในงานวิจัยขนาดเล็กและการเรียนการสอน ต่อมาในปี 2544 ได้จัดทำ “โครงการศึกษาวิจัยไรฝุ่นและโรคภูมิแพ้” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช” เพื่อใช้เป็นกลไกรองรับการนำผลงานวิจัยที่ได้ไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เนื่องมาจากเริ่มมีนักวิจัยต่างชาติให้ความสนใจและติดต่อขอเชื้อไรฝุ่น เช่น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) งานวิจัยนี้นอกจากได้ผลงานทางวิชาการในการตีพิมพ์เผยแพร่การวิจัยในวารสารระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับแล้ว ยังได้ผลลัพธ์เป็น นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาอีกหลายรายการ ดังนี้
        สิทธิบัตรจำนวน 2 รายการ ได้แก่ “อุปกรณ์แยกตัวไรฝุ่น” และ “เครื่องมือเก็บกักสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก” อนุสิทธิบัตร 3 รายการ ได้แก่ “อุปกรณ์เติมอาหารเพาะเลี้ยง” “อุปกรณ์กักฝุ่น” และ”อุปกรณ์เติมอาหารเพราะเลี้ยง” ทะเบียนความลับทางการค้า 2 รายการ ได้แก่ “กระบวนการผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์” และ “สูตรตำรับน้ำยาสมุนไพรฆ่าไรฝุ่น” รวมระยะเวลาการศึกษาวิจัยและนำผลงานวิจัยที่ได้มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ไม่น้อยกว่า 11 ปี ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้แก่องค์กรทั้งในระดับชาติและนานาชาติในการเป็นสถาบันแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีการศึกษาวิจัยไรฝุ่นอย่างครบวงจร ผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การยกระดับการเพาะเลี้ยงไรฝุ่นจากขนาดเล็กในห้องปฏิบัติการมาเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม จนเป็นแหล่งผลิตไรฝุ่นใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และการจำหน่ายตัวไรฝุ่นเชิงพาณิชย์ในระดับสากล การผลิตไรฝุ่นเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนไรฝุ่น (mite vaccine) การเปิดบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ การฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป และการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติในการเป็นศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Resource Center) ต้านไรฝุ่นของภูมิภาคเอเชีย
        ทั้งนี้คณะผู้วิจัยโครงการดังกล่าว จึงถือเป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาการศึกษาวิจัยด้านไรฝุ่นตั้งแต่ต้นน้ำ (upstream) จากการเพาะเลี้ยงไรฝุ่นเพียงขวดเดียว จนปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์วิจัยไรฝุ่น (Dust Mite Research Center) แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียที่มีงานวิจัยและบริการต้านไรฝุ่นอย่างครบวงจร และมีการบริหารจัดการที่เป็นเเม่เเบบที่ดี (good practice) ให้แก่สถาบันอื่นได้