ศิริราชคว้ารางวัล Innovative Teaching Award ในงานมหกรรมคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2560

        คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.พญ.ฉันทชา สิทธิจรูญ และ รศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ นักศึกษาแพทย์ธนาพัทธ์ วาณิชย์นที นักศึกษาแพทย์ปุญญภัทร มาประโพธิ์ นักศึกษาแพทย์นิพิฐ เจริญงาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัลรางวัลดีเด่น ผลงานประเภท Innovative Teaching Award จากผลงาน “การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ "การสัมผัสประสบการณ์ตรงทางคลินิกของนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก ดำเนินการโดย นักศึกษาแพทย์รุ่นพี่" กับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ”  โดยมี  ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานมอบรางวัลในงานมหกรรมคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  
 
        รางวัล Innovative Teaching Award มอบแก่ผลงานที่นำเสนอกระบวนการและกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการวัดและการประเมินผล ที่ออกแบบใหม่หรือที่ปรับปรุงขึ้นจากของเดิม อันจะนำมาสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome)

        ผลงาน การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ "การสัมผัสประสบการณ์ตรงทาง คลินิกของนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก ดำเนินการโดย นักศึกษาแพทย์รุ่นพี่" กับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

        บทคัดย่อ การเรียนแพทย์ในชั้นปีที่ 3 เป็นปีที่มีเนื้อหามาก ส่งผลให้นักศึกษาประสบปัญหาขาดแรงบันดาลใจ ในการใฝ่หาความรู้และกำลังใจในการเรียน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักศึกษาเหล่านั้นไม่เห็นภาพว่า ความรู้พื้นฐานในชั้นปรีคลินิก จะมีประโยชน์อย่างไรในการเรียนชั้นคลินิกและการประกอบอาชีพแพทย์ในอนาคต คณะผู้วิจัยจึงได้คิดกิจกรรมวิชาการ “พาน้องขึ้นวอร์ด” เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจในการเรียนให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 โดยนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ในชั้นคลินิกจะนำนักศึกษาแพทย์รุ่นน้องในชั้นปีที่ 3 ขึ้นหอผู้ป่วยต่างๆ เพื่อแสดงให้นักศึกษาแพทย์รุ่นน้องได้เห็นถึงการประยุกต์ความรู้ในชั้นปรีคลินิกในการดูแลรักษาผู้ป่วยจริง ซึ่งโครงการวิจัยนี้ ต้องการศึกษาว่าการเข้าร่วมโครงการพาน้องขึ้นวอร์ด สามารถเพิ่มแรงบันดาลใจในการเรียนของนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิกและชั้นคลินิกได้หรือไม่ และการเข้าร่วมโครงการพาน้องขึ้นวอร์ด สามารถเพิ่มความตระหนักว่าความรู้ในชั้นปรีคลินิกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชั้นคลินิก ได้หรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า ในนักศึกษาแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เรียนในช่วงหลังเข้าร่วมโครงการเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่พบปัจจัยนี้เพิ่มสูงขึ้นในนักศึกษาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการและไม่เข้าร่วมโครงการในระยะหลังเข้าร่วมโครงการ และ/หรือหลังขึ้นชั้นคลินิก พบว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีแรงบันดาลใจในการเรียนแพทย์ มีความรู้สึกว่าความรู้ที่เรียนในชั้นปรีคลินิกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชั้นปรีคลินิก รู้สึกว่าเนื้อหาที่เรียนในชั้นปรีคลินิกมีความน่าสนใจ ทบทวนเนื้อหาหลังการเรียน และเข้าใจถึงบรรยากาศและระบบการทำงานในชั้นคลินิกมากกว่านักศึกษาที่ไม่เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการนี้คือการที่นักศึกษาชั้นปรีคลินิกได้สัมผัสประสบการณ์ตรงทางคลินิกโดยมีนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ชั้นคลินิกเป็นผู้ถ่ายทอด ซึ่งเมื่ออยู่ในวัยใกล้กัน ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ