ภาควิชาตจวิทยา

ห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน

1.การทดสอบที่ให้บริการ

ห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งประเภทการทดสอบตามกลุ่มการใช้งานเป็น 2 กลุ่มการทดสอบ ดังนี้

การทดสอบโดยใช้ชิ้นเนื้อผิวหนังของผู้ป่วย

Direct Immunofluorescence for skin tissue

การทดสอบโดยการใช้ซีรั่มของผู้ป่วย

Pemphigus antibody

Bullous pemphigoid (BP) antibody

IgA anti - basement menbrane zone (BMZ) antibody

Herpes gestationis (HG) factor

Paraneoplastic pemphigus

2.ใบขอตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน

1. กรณีเป็นการขอส่งตรวจจากภายในโรงพยาบาลศิริราช ให้ใช้ใบขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตจวิทยาภูมิคุ้มกัน

2. กรณีเป็นการขอส่งตรวจจากภายนอกโรงพยาบาลศิริราช สามารถใช้ใบขอส่งตรวจทางหน่วยงาน หรือห้องปฏิบัติการต้นทางได้ โดยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการขอส่งตรวจ ที่สำคัญ คือ

1. ชื่อ-นามสกุล และหมายเลขประจำตัว (เช่น HN) ของผู้ป่วย

2. ระบุชนิดของสิ่งส่งตรวจว่าเป็นเลือดหรือชิ้นเนื้อ

3. ระบุวิธีการติดต่อกลับไปยังห้องปฏิบัติการต้นทาง

4. ระบุชื่อแพทย์ผู้ขอส่งตรวจ

5. ระบุวันที่และเวลาที่เจาะเลือดหรือตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ

6. ถ้าเป็นชิ้นเนื้อให้ระบุว่าเป็นชิ้นเนื้อสดหรือชิ้นเนื้อแช่น้ำยา modified Michel’s transport medium

7. ระบุชนิดการขอตรวจว่าปกติ หรือด่วน

8. กรอกข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ และการตรวจร่างกายพร้อมทั้งการวินิจฉัยเบื้องต้น

             
คลิกเพื่อดูรายละเอียด คลิกเพื่อดูรายละเอียด
ใบขอตรวจสำหรับส่งตรวจเลือดปกติ หน้าที่ 1 ใบขอตรวจสำหรับส่งตรวจเลือดปกติ หน้าที่ 2

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

3.คำแนะนำในการกรอกใบส่งตรวจ

คำแนะนำในการกรอกใบขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. กรอกข้อมูลในใบขอส่งตรวจให้ครบถ้วน

2. ทำเครื่องหมายเพื่อระบุชนิดการตรวจที่ต้องการขอส่งตรวจในช่องที่กำหนด

3. ระบุชื่อแพทย์ผู้ขอส่งตรวจทุกครั้ง

4. ระบุวันที่และเวลาที่เจาะเลือดหรือตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ

5. ถ้าเป็นชิ้นเนื้อให้ระบุว่าเป็นชิ้นเนื้อสดหรือชิ้นเนื้อแช่น้ำยา modified Michel’s transport medium

การขอตรวจในกรณีที่ต้องการผลด่วน

ในกรณีที่ผู้ใช้บริการต้องการทราบผลด่วน ให้ปฏิบัติดังนี้

1. ทำเครื่องหมาย " " ในช่องคำว่า "ด่วน" พร้อมทั้งระบุเหตุผล ในใบขอตรวจ ที่ส่งมาพร้อมกับสิ่งส่งตรวจนั้น เพื่อให้ห้องปฏิบัติการทราบและแยกออกไปทำการตรวจก่อน

2. ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้บริการขอผลด่วน เฉพาะกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน ที่ต้องการผลการตรวจไปประกอบการรักษาด่วน หรือผู้ป่วยภายนอกที่ผ่านการปรึกษากับอาจารย์แพทย์ของภาควิชาฯก่อน โดยห้องปฏิบัติการจะรายงานผลในกรณีขอผลด่วนภายใน 3 วันทำการ

4.การเก็บสิ่งส่งตรวจ

การเตรียมผู้ป่วย

ไม่มีการเตรียมผู้ป่วยเป็นพิเศษในการขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน

การส่งตรวจ Indirect immunofluorescence

1. การเลือกชนิดของหลอดเก็บเลือด และปริมาณเลือดที่ใช้ในการตรวจ indirect immunofluorescence ซึ่งประกอบด้วย

1.1 Pemphigus antibody

1.2 Bullous pemphigoid (BP) antibody

1.3 IgA anti - basement membrane zone (BMZ) antibody

1.4 Herpes gestationis (HG) factor

1.5 Paraneoplastic pemphigus

หมายเหตุ:

* Clotted blood (หลอดจุกสีแดง)* 5 ml. หรือtube ที่ไม่มีสารกันเลือดแข็ง anticoagulant

* หลอดจุกสีแดง: ภายในหลอดบรรจุ activator ที่ทำให้เกิด clot

2. การติดป้ายชื่อ-นามสกุลผู้ป่วย บนหลอดเก็บเลือด ควรปฏิบัติดังนี้

2.1 ปิด sticker เป็นแนวตรงตามแนวยาวของหลอดเก็บเลือด ไม่ม้วนเกลียวรอบหลอด

2.2 เมื่อปิด sticker แล้ว ต้องยังมองเห็นแถบสีที่บอกชนิดของหลอดเลือด และเว้นช่องว่างให้เห็นขีดบอกระดับเลือดที่ต้องเจาะ และระดับเลือดที่ใส่ลงในหลอดเก็บเลือด

2.3 ถ้า sticker ยาวเกินหลอดเลือด ให้ตัดส่วนที่เกินออก หรือพับ sticker ส่วนเกินเข้าหา กัน โดยต้องยังสามารถอ่าน HN และชื่อ-นามสกุลของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

3. การเจาะเลือด มีข้อปฏิบัติดังนี้

3.1 ห้ามเปิดจุกหลอดเก็บเลือด ซึ่งเป็นหลอดสูญญากาศ (vacutainer) แม้จะไม่เจาะเลือดด้วยระบบสุญญากาศ โดยตรงและหลังจากเจาะเลือดตามวิธีปกติแล้ว ให้ใช้เข็มแทงทะลุผ่านจุกยางแล้วค่อย ๆ ให้ระบบสุญญากาศดูดเลือดเข้าไปเอง โดยไม่ต้องดันลูกสูบของกระบอกเพื่อฉีดเลือดลงไป เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก

3.2 เมื่อใส่เลือดลงหลอดเก็บเลือดแล้วพลิกคว่ำหลอด 5 ครั้ง

3.3 ระบุวันเวลาที่เจาะเลือดลงในใบส่งตรวจ

3.4 ใส่หลอดเก็บเลือดในถุงพลาสติกใส และมัดปากถุงให้สนิทเพื่อไม่ให้น้ำเข้า

4. การนำเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีข้อปฏิบัติดังนี้

4.1 ควรนำส่งห้องปฏิบัติการทันทีหรือภายใน 6 ชั่วโมง ถ้าไม่สามารถนำส่งห้องปฏิบัติการได้ภายใน 6 ชั่วโมง ให้นำหลอดเลือด (clotted blood) ใส่ตู้เย็น 2-8 °C และนำส่งในวันถัดไป

4.2 ถ้าจำเป็นต้องเก็บไว้นานเกิน 24 ชั่วโมงให้ปั่นแยกเป็นซีรั่มด้วยเครื่องปั่น (centrifuge) ความเร็ว 3,000 rpm นาน 5-10 นาที และเก็บหลอดซีรั่มไว้ในตู้เย็น 2-8 °C หรือ ช่องแช่แข็ง

การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ Direct immunofluorescence

1. การตัดชิ้นเนื้อ มีข้อปฏิบัติ ดังนี้

1.1 ตรวจดู sticker ที่แสดงชื่อ-นามสกุล HN ของผู้ป่วยที่ติดบนใบขอส่งตรวจ และหลอดเก็บชิ้นเนื้อต้องตรงกัน

1.2 ขานชื่อ-นามสกุลผู้ป่วยทุกครั้ง และก่อนจะลงมือตัดชิ้นเนื้อ ต้องถามชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย และตรวจสอบอีกครั้งเพื่อแน่ใจว่าตรงกับข้อมูลใน sticker ที่ติดอยู่บนใบขอส่งตรวจ และหลอดเก็บชิ้นเนื้อ

1.3 ผู้ป่วยต้องเซ็นใบยินยอมให้ทำการตัดชิ้นเนื้อทุกครั้ง

2. การบรรจุชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีข้อปฏิบัติดังนี้

2.1 กรณีชิ้นเนื้อสด (fresh tissue) ที่นำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 6 ชั่วโมง

- แพทย์ตัดชิ้นเนื้อ (skin biopsy) ของผู้ป่วยแล้วนำใส่ใน cryotube สำหรับ immunologic study หรือขวดแก้ว sterile อาจใส่ NSS เล็กน้อยให้ท่วมชิ้นเนื้อแล้ว ใส่ในถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น แช่เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 °C ตลอดหลังจากการตัดชิ้นเนื้อ และนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 6 ชั่วโมง

2.2 กรณีชิ้นเนื้อสด (fresh tissue) ที่ไม่สามารถนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 6 ชั่วโมง

- ให้นำ skin biopsy ใส่ในหลอดบรรจุน้ำยา modified Michel's transport medium ปริมาณต้องไม่น้อยกว่า 10 เท่าของขนาดชิ้นเนื้อ แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 7 วัน

5.การติดป้ายชื่อผู้ป่วยบนหลอดสิ่งส่งตรวจ

การติดป้ายชื่อผู้ป่วย ขอให้ปฏิบัติดังนี้

1. ปิด sticker เป็นแนวตรง ไม่ม้วนเกลียว

2. เมื่อปิด sticker แล้วต้องมองเห็นแนวแถบสีที่บอกชนิดของหลอดเลือด และเว้นช่องว่างให้เห็นขีดบอกระดับเลือดที่ต้องเจาะและระดับเลือดที่ส่งใส่ลงมาในหลอดเลือด

3. หาก sticker ยาวเกินหลอดเลือด ให้ตัดหรือพับส่วนที่เกินออกได้ โดยให้เหลือส่วนที่เป็น HN. และชื่อ หรือจะพับ Sticker ส่วนที่เกินเข้าหากันได้

6.การส่งสิ่งส่งตรวจ

1. นำหลอดเก็บชิ้นเนื้อสด (fresh tissue) ใส่ในถุงพลาสติกใสแช่ในน้ำแข็งระหว่างนำส่ง และควรนำส่งสิ่งส่งตรวจด้วยความรวดเร็ว โดยทั่วไปไม่เกิน 6 ชั่วโมงหลังตัดชิ้นเนื้อ เนื่องจากการเก็บสิ่งส่งตรวจไว้นานเกินไปมีผลกระทบต่อความถูกต้องของผลการทดสอบ

2. หลอดเก็บชิ้นเนื้อที่แช่ใน modified Michel's transport medium ไม่จำเป็นต้องแช่น้ำแข็งขณะนำส่ง แต่ถ้ายังไม่ส่งทันทีให้แช่ตู้เย็น 2-8 °C ไว้ก่อนและโปรดนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 7 วัน

3. นำหลอดเก็บเลือดที่ไม่ได้ปั่นแยกใส่ในถุงพลาสติก และควรนำส่งสิ่งส่งตรวจด้วยความรวดเร็ว โดยทั่วไปไม่เกิน 6 ชั่วโมงหลังเจาะเลือด

4. หลอดเก็บเลือด ถ้าไม่สามารถนำส่งได้ภายใน 6 ชั่วโมง ต้องแช่ตู้เย็น 2-8 °C ไว้ หรือถ้าจำเป็นต้องเก็บไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง ควรปั่นแยกซีรั่มและเก็บซีรั่มใส่หลอดแช่ตู้เย็น 2-8 °C และนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 7 วัน (สามารถส่งทางไปรษณีย์ EMS โดยไม่ต้องแช่เย็น)

5. การนำส่งสิ่งส่งตรวจจากหน่วยงานต้นทางมาสู่ห้องปฏิบัติการ ควรใส่ในกล่องหรือภาชนะพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิด วางหลอดเก็บสิ่งส่งตรวจในแนวตั้ง หรือใส่ในถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น

6. สถานที่ และช่วงเวลาที่สามารถนำส่งสิ่งส่งตรวจ

- สถานที่นำสิ่งส่งตรวจ : ห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 9 ห้อง 927 เบอร์โทรศัพท์ 0-2419-4314

- เวลาทำการ : วันและเวลาราชการ (จันทร์-ศุกร์) ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.


กรณีส่งสิ่งส่งตรวจจากภายนอกโรงพยาบาล

1. กรอกใบส่งตรวจของห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลหรือของห้องปฏิบัติการต้นทางได้ โดยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการขอส่งตรวจให้ครบถ้วน ดังนี้

- ชื่อ-นามสกุล และหมายเลขประจำตัว (เช่น HN) ของผู้ป่วย

- ระบุชนิดของการตรวจที่ต้องการขอส่งตรวจ

- ระบุชื่อแพทย์ผู้ขอตรวจ

- ระบุวัน และ เวลาที่เจาะเลือดหรือตัดชิ้นเนื้อ

- ถ้าเป็นชิ้นเนื้อให้ระบุว่าเป็นชิ้นเนื้อสดหรือชิ้นเนื้อแช่น้ำยา modified Michel’s transport medium

- ประวัติอาการ และการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น

2. ส่งชิ้นเนื้อหรือเลือดของผู้ป่วยพร้อมกับใบส่งตรวจ นำส่งที่ห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 9 ห้อง 927 ในวันและเวลาราชการ (จันทร์-ศุกร์) ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ทางห้องปฏิบัติการจะออกใบ invoice เพื่อให้นำไปชำระค่าตรวจที่ห้องการเงิน ตึกสยามินทร์ ชั้น 1 และออกแบบฟอร์มรับสิ่งส่งตรวจภายนอกให้ผู้มาส่งตรวจ เพื่อนัดวันให้มารับผล

3. ถ้าส่งชิ้นเนื้อสด ที่ไม่ได้แช่ใน modified Michel's transport medium ให้แพทย์หรือพยาบาลโทรนัดกับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการฯ ก่อนเพื่อเตรียมรับชิ้นเนื้อ ที่หมายเลข 0-2419-4314

4. ถ้าส่งชิ้นเนื้อหรือเลือดทางไปรษณีย์ ให้แช่ชิ้นเนื้อในน้ำยา modified Michel's transport medium นำส่งที่อุณหภูมิปกติ ไม่จำเป็นต้องแช่เย็น ส่วนหลอดเก็บเลือดให้บรรจุในกล่องเก็บความเย็นพร้อมใส่น้ำแข็งแห้งระหว่างนำส่ง จ่าหน้าถึงผู้รับคือ นายสำรวย ปิ่นแก้ว ภาควิชาตจวิทยา ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 9 โรงพยาบาลศิริราช เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ 10700


เกณฑ์การปฏิเสธสิ่งส่งตรวจ

1.

Code Description
RJ01 การติดป้ายหรือเขียนชื่อ-นามสกุล ในใบส่งตรวจกับภาชนะสิ่งส่งตรวจไม่ตรงกัน
RJ02 ไม่ติดป้ายหรือเขียนชื่อ-นามสกุลบนภาชนะสิ่งส่งตรวจ
RJ03 ไม่ติดป้ายหรือเขียนชื่อ-นามสกุลบนใบส่งตรวจ
RJ04 การส่งสิ่งส่งตรวจโดยไม่มีใบส่งตรวจ
RJ05 สิ่งส่งตรวจเก็บในภาชนะที่ไม่ถูกต้อง
RJ06 สิ่งส่งตรวจหกเลอะภาชนะที่เก็บสิ่งส่งตรวจหรือใบส่งตรวจ
RJ07 ปริมาณสิ่งส่งตรวจไม่เพียงพอ
RJ09 สิ่งส่งตรวจส่งถึงห้องปฏิบัติการช้ากว่ากำหนดเวลาที่ห้องปฏิบัติการกำหนด
RJ14 ไม่มีสิ่งส่งตรวจ (specimen)
RJ15 ไม่ทำรายการตรวจนี้
RJ16 สิ่งส่งตรวจมีความซ้ำซ้อน
RJ17 สิ่งส่งตรวจผิดประเภท หรือไม่เหมาะสมแก่การตรวจ
RJ18 ชื่อกับ HN ไม่ใช่ผู้ป่วยรายเดียวกัน
RJ19 ส่งผิดห้องปฏิบัติการ
RJ20 ไม่ระบุรายการขอตรวจ
RJ21 ส่งตรวจแบบ IPD แต่ไม่มี AN
RJ23 ไม่ระบุชนิดสิ่งส่งตรวจ
RJ24 ไม่ระบุเวลาเจาะเลือด สำหรับการทดสอบที่เวลามีผลกระทบ
RJ25 สิ่งส่งตรวจเก็บที่อุณหภูมิไม่เหมาะสมขณะนำส่ง
RJ99 อื่น ๆ

2. เมื่อพบสิ่งส่งตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การปฏิเสธสิ่งตรวจของห้องปฏิบัติการฯ เจ้าหน้าที่ผู้รับสิ่งส่งตรวจจะทำการปฏิเสธสิ่งส่งตรวจ โดยปฏิบัติดังนี้

2.1 โทรศัพท์แจ้งการปฏิเสธสิ่งส่งตรวจไปยังผู้รับผิดชอบการขอส่งตรวจ/การดูแล ผู้ป่วยรับทราบ และดำเนินการแก้ไข

2.2 ส่งคืนสิ่งส่งตรวจที่ถูกปฏิเสธและใบขอส่งตรวจพร้อมใบแจ้งการปฏิเสธสิ่งส่งตรวจ กลับไปยังหน่วยงานต้นทาง

2.3 หน่วยงานต้นทางทำการแก้ไขให้ถูกต้อง และนำส่งใหม่พร้อมใบขอส่งตรวจใบใหม่

7.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การขอส่งตรวจเพิ่ม โดยใช้สิ่งส่งตรวจเดิมที่เคยส่งมาแล้ว

1. การทดสอบที่ขอเพิ่มได้ เฉพาะกรณีที่ขอตรวจเพิ่มภายในเวลา 1 เดือน หลังการเก็บสิ่งส่งตรวจที่จะใช้ตรวจเพิ่ม และมีสิ่งตรวจเหลืออยู่เพียงพอต่อการตรวจ

2. วิธีปฏิบัติในการขอส่งตรวจเพิ่มโดยใช้สิ่งส่งตรวจเดิมที่เคยส่งมาแล้ว (เฉพาะการทดสอบที่สามารถขอส่งตรวจเพิ่มได้เท่านั้น)

2.1 โทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบว่ามีสิ่งส่งตรวจที่ถูกต้องตามเกณฑ์ที่ระบุ และมีปริมาณเพียงพอหรือไม่

2.2 ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าสามารถขอส่งตรวจเพิ่มโดยใช้สิ่งส่งตรวจเดิมได้ให้ดำเนินการกรอกใบขอส่งตรวจฉบับใหม่ ระบุชนิดการทดสอบที่จะขอส่งตรวจเพิ่ม พร้อมทั้งระบุในใบขอส่งตรวจใหม่ให้ชัดเจนด้วยว่าเป็นการขอส่งตรวจเพิ่มโดยใช้สิ่งส่งตรวจเดิมที่เก็บไว้เมื่อใด

2.3 ส่งใบขอส่งตรวจเพิ่ม มาตามกระบวนการขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของคณะฯ ตามปกติ

8.การรายงานผลตรวจ

ภายหลังการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้น ผลการตรวจจะได้รับการอ่านผลโดยแพทย์ประจำบ้านร่วมกับอาจารย์แพทย์ หลังจากนั้นจึงรายงานผลการตรวจวิเคราะห์และรับรองผลโดยอาจารย์แพทย์ผู้ได้รับมอบหมาย ผ่านระบบสารสนเทศของห้องปฏิบัติการ ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลศิริราช

1. การรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา ประกอบด้วย

1.1 การรายงานผล online ผ่านระบบสารสนเทศห้องปฏิบัติการ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูผลได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ในระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลที่หอผู้ป่วย/ห้องตรวจโดยตรงรวมทั้งสามารถสั่งพิมพ์สำเนาใบรายงานผลของผู้ป่วยรายนั้นๆ ได้ตามต้องการ

1.2 รายงานเป็นเอกสารใบรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะถูกส่งมอบให้กับผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับใบรายงานผลนั้น ๆ แบบปกปิด ตามระเบียบปฏิบัติของคณะฯ เกี่ยวกับการรายงานผลโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย

2. การรับใบรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา มีวิธีปฏิบัติดังนี้

2.1 ให้ผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานที่ขอตรวจติดต่อขอรับใบรายงานผล ที่ห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 9 ห้อง 927

2.2 เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการฯ จะตรวจสอบหลักฐานการขอรับใบรายงานผล ดังนี้

- เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วย/ห้องตรวจ หรือ รพ.ภายนอก จะต้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, บัตรประชาชน (หรือบัตรประจำตัวที่หน่วยงานออกให้, ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต) ของผู้มาขอรับใบรายงานผล

- หลักฐานการได้รับมอบให้เป็นผู้รับใบรายงานผล ได้แก่ แบบฟอร์มการรับสิ่งส่งตรวจจากภายนอก ที่ออกให้โดยห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา

2.3 เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการฯ ส่งมอบใบรายงานผลแบบปกปิดให้แก่ผู้มาขอรับใบรายงานผล และบันทึกข้อมูลตามวิธีปฏิบัติที่ห้องปฏิบัติการฯกำหนด และให้ผู้มาขอรับใบรายงานผลเขียนชื่อ-สกุล (ตัวบรรจง) ในช่องผู้รับใบรายงานผลในแบบฟอร์มบันทึกการนำส่งสิ่งส่งตรวจและรับใบรายงานผล และในแบบฟอร์มการรับสิ่งส่งตรวจจากภายนอก

3. การรายงานผลทางโทรศัพท์

ห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ไม่มีนโยบายรายงานผลทางโทรศัพท์ ยกเว้น

3.1 ในกรณีระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลขัดข้องทำให้ไม่สามารถเรียกดูผลการตรวจวิเคราะห์ผ่านทางระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลได้ และ/หรือได้รับการร้องขอจากแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยด่วนมีความจำเป็นต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย

3.2 ในกรณีเป็นการขอส่งตรวจจากภายนอกโรงพยาบาลศิริราช และได้รับการร้องขอจากแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยด่วนมีความจำเป็นต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยทางห้องปฏิบัติการฯ จะทำการบันทึกรายละเอียดของการรายงานผลทางโทรศัพท์ ดังนี้

- ชื่อ-นามสกุล, หมายเลข HN, และหมายเลข Lab No. ของผู้ป่วย

- หอผู้ป่วย/ห้องตรวจ/หน่วยงาน ที่ขอให้รายงานผลทางโทรศัพท์

- ชื่อ-นามสกุลของแพทย์ผู้ขอให้ห้องปฏิบัติการรายงานผลทางโทรศัพท์

- หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-นามสกุลของแพทย์ หรือพยาบาลผู้รับทราบผลทางโทรศัพท์

- ชื่อการทดสอบที่รายงานผลทางโทรศัพท์

- ผลการทดสอบที่รายงานผลทางโทรศัพท์

- วันที่ และเวลาที่รายงานผลทางโทรศัพท์

- ชื่อผู้ดำเนินการรายงานผลทางโทรศัพท์และจะดำเนินการส่งมอบใบรายงานผลฉบับสมบูรณ์ให้ภายหลัง

4. การรายงานผลกรณีค่าวิกฤต

เนื่องจากห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชาตจวิทยา ไม่มีการทดสอบใดที่ให้บริการในปัจจุบันที่ผลการตรวจวิเคราะห์ของการทดสอบ นั้น ๆ เป็นค่าวิกฤตที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งจำเป็นจะต้องแจ้งแก่แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยทราบทางโทรศัพท์ในทันที ดังนั้นห้องปฏิบัติการตจวิทยาภูมิคุ้มกันจึงไม่มีการรายงานผลทางโทรศัพท์ในกรณีค่าวิกฤต

5. การรายงานผลทางโทรสาร

ในกรณีผู้รับบริการภายนอกโรงพยาบาล มีความประสงค์จะให้ห้องปฏิบัติการฯ ส่งมอบใบรายงานผลทางโทรสาร เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดูแลรักษาผู้ป่วย และ/หรือ มีปัญหาในการเดินทางมารับใบรายงานผล ให้ดำเนินการดังนี้

5.1 ส่งหลักฐานแจ้งความจำนงเบื้องต้นให้ห้องปฏิบัติการทราบและเก็บข้อมูลไว้

5.2 ในแต่ละครั้งที่มีความประสงค์ให้รายงานผลทางโทรสาร ผู้ร้องขอจะต้องกรอกข้อมูลอย่างครบถ้วนในแบบฟอร์มการขอให้ส่งมอบใบรายงานผลทางโทรสาร (ห้องปฏิบัติการจะจัดส่งแบบฟอร์มไปให้ทางโทรสารหลังได้รับแจ้งความประสงค์ในแต่ละครั้ง)

5.3 ผู้ร้องขอส่งแบบฟอร์มฯ ที่กรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว พร้อมสำเนาหลักฐานแสดงตนของผู้ที่จะรับมอบใบรายงานผล (บัตรประชาชน, บัตรประจำตัวที่หน่วยงานออกให้, ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต) ที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องเรียบร้อยแล้วกลับมายังห้องปฏิบัติการฯทางโทรสาร

5.4 เมื่อห้องปฏิบัติการฯ จัดเตรียมใบรายงานผล และตรวจสอบหลักฐานเรียบร้อยแล้ว จะโทรศัพท์ติดต่อกลับไปอีกครั้งเพื่อยืนยันการขอรับมอบใบรายงานผลทางโทรสารที่ร้องขอและแจ้งกำหนดการส่ง หลังจากนั้นจึงดำเนินการส่งใบรายงานผลทางโทรสารตามวัน-เวลาและวิธีการที่ได้นัดหมายไว้