การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์ (Robotic-assisted Laparoscopic Radical Prostatectomy, RALRP)

     หลังจากที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ประสบความสำเร็จในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทย โดยเริ่มทำการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยกล้องเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2548   ในขณะนี้ศิริราชได้พัฒนาล้ำหน้าไปอีก โดยได้ริเริ่มการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
    จากข้อดีของการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยกล้องผ่านหน้าท้อง เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิด คือ เสียเลือดน้อย, แผลผ่าตัดเล็ก และฟื้นตัวไว ทำให้ศิริราชมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ  โดยในปี 2549 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมารับการผ่าตัดด้วยกล้องมากกว่า 200 ราย แต่ศิริราชก็ไม่หยุดยั้ง  โดยพัฒนาขีดความสามารถขึ้นไปอีก โดยนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเข้ามาใช้ คือ การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Robotic Surgery โดยหุ่นยนต์ที่ติดตั้งในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนี้มีชื่อว่า da Vinci S มีแขน 4 แขน โดย 1 แขนทำหน้าที่ถือกล้องที่มีคุณภาพสูง และอีก 3 แขนที่เหลือใช้ในการผ่าตัด  ถือเป็นเทคฺโนโลยีล่าสุดเป็นที่แรกในประเทศไทย
     เทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นี้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 และพัฒนาเรื่อยมา  ปัจจุบันนำมาใช้ในการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากมากที่สุด และมีการเพิ่มจำนวนของหุ่นยนต์ผ่าตัดในสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา  เทคโนโลยีหุ่นยนต์จะมีข้อดีหลายอย่างมากกว่าการผ่าตัดโดยใช้กล้องผ่านหน้าท้องเดิมหลายประการ  แพทย์จะต้องเป็นคนควบคุมการผ่าตัด โดยนั่งที่ console มองผ่านภาพ 3 มิติ ซึ่งจะได้ความลึก คมชัด กว่ามองผ่านจอในการผ่าตัดด้วยกล้องแบบเดิม  แพทย์จะต้องฝึกฝนและใช้ความชำนาญโดยใช้มือควบคุมการผ่าตัด ณ ที่ console และถ่ายทอดสัญญาณไปยังแขนของหุ่นยนต์ซึ่งจะมีเครื่องมือเล็กยาว ผ่านรูที่เจาะผ่านเข้าช่องท้องและทำการผ่าตัดอย่างที่แพทย์ต้องการ เช่น กรีด ตัด หรือเย็บเนื้อเยื่อ โดยที่การเคลื่อนไหวของเครื่องมือจะเป็นไปตามการหมุนของมือแพทย์ผ่าตัดที่ควบคุมที่ console เปรียบเสมือนกับการเอามือเข้าไปผ่าตัดในช่องท้องอย่างอิสระแต่ไม่ต้องมีแผลเปิดหน้าท้อง
     ถึงแม้ว่าจะมีการเจาะรูผ่านหน้าท้องเช่นเดียวกับการผ่าตัดด้วยกล้องผ่านหน้าท้อง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Endowrist จะให้การเคลื่อนไหวที่อิสระมากกว่าและแม่นยำมากกว่า เนื่องจากจะมีการคัดกรองความสั่นด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค  ประกอบกับการมองเห็นภาพที่เป็น 3 มิติ สามารถบอกความลึกของเนื้อเยื่อและความความชัดสูง ทำให้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นี้สามารถทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดด้วยกล้องเจาะผ่านหน้าท้องเดิม และให้ความแม่นยำที่สูงกว่า เป็นผลให้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า  มีโอกาสเสียเลือดน้อยกว่า    นอกจากนี้ เมื่อแพทย์มีความชำนาญมากขึ้น การที่ภาพขยายแบบ 3 มิติ ประกอบกับความแม่นยำที่สูง จะทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการตัดเลาะแยกเก็บเส้นประสาทที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะ และความสามารถในการแข็งตัวขององคชาตได้ดีขึ้นซึ่งเป็นผลของคุณภาพชีวิต โดยที่ผลของการควบคุมมะเร็งยังดีอยู่
     นอกเหนือจากการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ยังสามารถพัฒนาใช้ได้ในการผ่าตัดชนิดอื่นๆ และสาขาอื่นๆ อีกมาก   การพัฒนายังคงมีอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง  คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลจะยังคงพัฒนาความรู้ความสามารถต่อไปและเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์ เพื่อประโยชน์ของการแพทย์ไทยต่อไป