ครั้งแรกของโลก
ศิริราชผลิตนมจากเนื้อไก่
รักษาทารกแพ้นมวัว
ครั้งแรกของโลก
ศิริราชผลิตนมจากเนื้อไก่
รักษาทารกแพ้นมวัว
วันนี้ (10 ส.ค. 2550 ) เวลา 10.00 น. ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง ครั้งแรกของโลก ศิริราชผลิตนมจากเนื้อไก่ รักษาทารกแพ้นมวัว ร่วมกับ รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ หัวหน้าสาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ 3 ครอบครัวผู้แพ้นมวัว ซึ่งหันไปกินนมจากเนื้อไก่แทน ด.ญ.เปมิกา ดญ. ปาณิศา ณ ลำพูน บุตรสาวนางกนกวรรณ ณ ลำพูน ด.ช.ปวเรศเทวหสกุลทอง บุตรชายนายปวริศ เทวหสกุลทอง และ ด.ญ.รสกร เจริญสุข บุตรสาวนางรัตนา ตั้งจิตตรชอบ ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2
ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ และคณะผู้วิจัย จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ได้แก้ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวด้วยการคิดค้นและผลิตนมจากเนื้อไก่แทน โดยยังคงคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่ายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
จากสถิติเด็กไทย เกิดปีละ 8 แสนคนต่อปี มีเพียงร้อยละ 20 ที่เลี้ยงดูด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน นอกนั้นเลี้ยงด้วยนมวัวประมาณ 6 แสนคน ในจำนวนนี้มีอาการแพ้ร้อยละ 3 หรือประมาณ 20,000 คนต่อปี จากสถิติที่กล่าวมา โรคแพ้โปรตีนนมวัวในเด็กมีแนวโน้มสูงมากขึ้น และกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ โดยแพทย์มักเปลี่ยนเป็นนมถั่ว หรือสูตรนมชนิดพิเศษที่มีการย่อยโปรตีนในนมเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีทารกอีก จำนวนหนึ่งที่แพ้นมพิเศษเหล่านี้ และจากรายงานทางการแพทย์หลายแห่งระบุว่า ถ้าแพ้โปรตีนนมวัว นมถั่ว หรือนมอื่น ๆ ให้ลองกินเนื้อไก่ดู จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นำเนื้อไก่มาปรุงด้วยวิธีพิเศษและเติมสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับทารก จนได้เป็นเนื้อนมที่เนียนละเอียดมาก จากนั้นนำมาแช่แข็งที่ 72° C และนำมาละลายเมื่อจะกิน ซึ่งทารกสามารถดูดนมจากเนื้อไก่นี้ได้จากจุกนมปกติ นอกจากนี้ยังได้ส่งนมจากเนื้อไก่ไปยังกรมวิทยาศาสตร์บริการเพื่อตรวจวัดคุณค่าสารอาหารต่างๆ พบว่า นมจากเนื้อไก่นี้มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนได้มาตรฐานสำหรับทารก
ต่อมาได้ทำการวิจัยในทารกที่แพ้โปรตีนนมวัว โดยเปรียบเทียบการกินนมจากเนื้อไก่ 20 ราย และนมจากถั่วเหลือง 18 ราย เป็นเวลา 14 วัน (งานวิจัยนี้ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ผลจากการวิจัยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยทารกเหล่านี้ มีอาการแพ้นมจากเนื้อไก่น้อยกว่านมจาก ถั่วเหลืองถึง 8 เท่า นอกจากนี้ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีทารกอีกจำนวนหนึ่งที่ขอกินนมจากเนื้อไก่มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป เนื่องจากทารกเหล่านี้แพ้นมทุกชนิดในประเทศไทย แต่กินนมจากเนื้อไก่ได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ มีการเจริญเติบโตเป็นปกติ และในภายหลัง ทารกเหล่านี้สามารถกลับไปกินนมวัวได้โดยไม่มีอาการแพ้ รายละเอียดของการศึกษานี้จะตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition ซึ่งทางคณะผู้ผลิตได้จดสิทธิบัตรสูตรนมจากเนื้อไก่แล้วเมื่อเดือนกันยายน 2549 สำหรับโครงการต่อไปจะศึกษาเปรียบเทียบการกินนมวัวและนมไก่ในระยะยาว รวมทั้งจะพัฒนาต่อยอดเป็นสูตรอาหารสำหรับเด็กโตและผู้สูงอายุ
รายละเอียดเพิ่มเติม
โรคแพ้โปรตีนนมวัวในเด็ก เกิดจากเด็กไม่สามารถรับโปรตีนที่มีอยู่ในนมวัวได้ ประกอบกับในระยะ 4-6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบน้ำย่อยสารต่าง ๆ ของทารกยังไม่แข็งแรง นอกจากนี้ทารกที่มีประวัติครอบครัวหรือบิดามารดาเป็นโรคภูมิแพ้และยังได้รับนมผสมหรือนมวัวจะมีโอกาสเกิดโรคแพ้โปรตีนในนมวัวสูงกว่าเด็กปกติทั่วไป โดยโรคนี้มักเกิดในขวบปีแรกของทารก ทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ อาทิ อาการผิวแห้ง มีผื่นคันเรื้อรังที่ใบหน้าและลำตัว มีเสมหะครืดคราดในลำคอ คัดจมูกหรือไอเรื้อรัง บางรายอาจปวดท้อง ร้องกวน อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ในรายที่รุนแรงอาจเป็นหอบหืดเรื้อรัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้น และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ตั้งแต่วัยทารก