เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จฯ เปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการนานาชาติ
พร้อมทั้งทรงเปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย – เยอรมัน

เฉลิมพระเกียรติ  80  พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี 

เสด็จฯ เปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการนานาชาติ

พร้อมทั้งทรงเปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย – เยอรมัน

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา  เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชวิทยาระดับนานาชาติ  เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งเน้นการให้ความรู้ ทักษะในการใช้กล้องส่องตรวจและรักษาทางนรีเวชวิทยา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม   ณ ห้องประชุมตรีเพ็ชร์  ชั้น 15  อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์  จากนั้นเสด็จฯ ทรงเปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย – เยอรมัน  ณ ตึกจุฑาธุช ชั้น 8  รพ.ศิริราช   

            เมื่อเสด็จฯ ถึงโรงพยาบาลศิริราช   ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  จากนั้นเสด็จฯ  ไปยังห้องประชุมตรีเพ็ชร  พ์อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย  วันทนาศิริ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา  ทูลเกล้า ฯ ถวายของ   ที่ระลึก  ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล   สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กราบบังคมทูลรายงาน  จากนั้นได้มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชวิทยาระดับนานาชาติ  ในเวลาต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์พงษ์ศักดิ์  ชัยศิลป์วัฒนา  ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย – เยอรมัน  กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก    

                 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชวิทยาระดับนานาชาติ  จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยได้รับความร่วมมือจาก The Asia-Pacific Association for Gynecologic Endoscopy and Minimally Invasive Therapy (APAGE) ซึ่งเป็นองค์กรการฝึกอบรมด้านผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชระดับนานาชาติ  ชมรมนรีแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องแห่งประเทศไทย  และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นเจ้าภาพในการจัดครั้งนี้  เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 14 ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ประกอบด้วย  สหพันธรัฐเยอรมัน  ไทย  สหราชอาณาจักร  ไต้หวัน  สาธารณรัฐประชาชนจีน    ญี่ปุ่น   อินเดีย   อินโดนีเซีย  สิงคโปร์  ฮ่องกง  เกาหลี  สหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย    ฟิลิปปินส์  และเขตปกครองพิเศษมาเก๊า    ได้มีโอกาสฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ  Prof. Dr. Dr. h.c. H-R. Tinnerberg.,Giessen  University, Prof. Dr. Masaaki  Andoh.,Osaka  University, Prof. Dr.Chyi-Long Lee., Chang Gung Memorial Hospital, University   การอบรมประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้อง   การดูแลผู้ป่วย   ความสามารถในการจัดเตรียมและดูแลเครื่องมือ   รวมทั้งการผ่าตัดเหมือนจริงด้วยหุ่นจำลอง   โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น  จำนวน 120 คน  ทั้งนี้ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

             จากนั้นเวลา 17.45 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย – เยอรมัน ณ ตึกจุฑาธุช ชั้น 8  โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์พงษ์ศักดิ์  ชัยศิลป์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  กราบบังคมทูลรายงาน จากนั้นทรงเปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้อง สหสาขา ไทย – เยอรมัน พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงผลงานความก้าวหน้าทางการผ่าตัดผ่านกล้องจากสหสาขาและภาควิชาต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  

                   ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องสหสาขาไทย – เยอรมัน เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2543 ด้วยการสนับสนุนทางวิชาการจากสหพันธรัฐเยอรมัน ทั้งในด้านการฝึกอบรม อาจารย์แพทย์ และเครื่องมือผ่าตัด ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องไทย – เยอรมัน”  โดยมีแพทย์และพยาบาลเข้ารับการฝึกอบรมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศมาแล้วมากกว่า 1,000 คน  ได้แก่  ประเทศอินเดีย   เนปาล   บังคลาเทศ  มัลดีฟ  และเกาหลีเหนือ เป็นต้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์การสอนและสถานที่  จึงไม่สามารถตอบสนองต่อการฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องในทางการแพทย์หลากหลายสาขาได้อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน  แม้ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้เป็นที่ทราบกันว่า  ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อย  บาดแผลเล็ก  และฟื้นตัวเร็วก็ตาม

                   เหตุนี้ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดผ่านกล้องไทย – เยอรมัน จึงดำริจัดทำโครงการพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ครอบคลุมหลากหลายสาขา ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาไทย-เยอรมันระดับนานาชาติ”  ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Professor Dr. Dr. h.c. H-R. Tinneberg   Dr. h.c. mult Sybill Storz  และบริษัท STORZ สหพันธรัฐเยอรมัน  ได้จัดส่งอุปกรณ์การเรียนการสอนและเครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเพิ่มเติมเป็นจำนวน 9  ชุด พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงหุ่นจำลองฝึกการผ่าตัดผ่านกล้อง มูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท  ภายในศูนย์แห่งนี้  ประกอบด้วย  ชุดผ่าตัดผ่านกล้องภายในช่องท้อง จำนวน  9  ชุด   หุ่นจำลองฝึกผ่าตัดผ่านกล้องภายในอวัยวะต่าง ๆ   ได้แก่ ช่องท้อง จำนวน  9 ชุด   โพรงมดลูก  จำนวน  8 ชุด  ข้อเข่า จำนวน  8 ชุด  และข้อสะโพก จำนวน  8 ชุด   เตียงฝึกผ่าตัดในหุ่นจำลองหรือสัตว์ทดลอง จำนวน 10 เตียง  ห้องบรรยาย  50  ที่นั่ง  สามารถถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงจากห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลศิริราช  หรือห้องผ่าตัดจากที่อื่นมายังศูนย์แห่งนี้ได้โดยผ่านทาง Teleconference    ขณะเดียวกันยังมีห้องประมวลผลการผ่าตัดสอนแสดงให้ชมด้วย  คาดว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมทั้งในและนอกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต