ครั้งแรกของโลก แพทย์ศิริราชพบ
โปรตีนชนิดใหม่ในปัสสาวะสามารถยับยั้งกลไกการเกิดก้อนนิ่วในไต

ครั้งแรกของโลก แพทย์ศิริราชพบ

โปรตีนชนิดใหม่ในปัสสาวะสามารถยับยั้งกลไกการเกิดก้อนนิ่วในไต

 

อีกก้าวของวงการแพทย์ไทย กับการค้นพบโปรตีน “เทร-ฟอยล์-แฟคเตอร์-วัน” (Trefoil factor 1 หรือ TFF1) ในปัสสาวะของคนปกติซึ่งสามารถยับยั้งการโตของผลึกแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลทที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดก้อนนิ่วในไต งานวิจัยเรื่องนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับวงการแพทย์ มาติดตามเรื่องราวจาก .นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด หน่วยอณูชีววิทยาการแพทย์ สถานส่งเสริมการวิจัย กันครับ

            “โรคนิ่วในไตเป็นโรคที่พบบ่อย มีอุบัติการณ์สูงถึงร้อยละ 1 – 20 ของคนทั่วโลก และพบได้บ่อยในคนไทยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบอุบัติการณ์สูงถึงร้อยละ 0.6 – 16 ของประชากรในแถบนั้น อีกทั้งยังเป็น โรคเก่าแก่เพราะมีหลักฐานการค้นพบก้อนนิ่วในไตของมัมมี่ที่มีอายุถึง 7,000 ปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนนิ่วมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน สิ่งแวดล้อม หรือพันธุกรรมที่อาจส่งผลให้มีการขับสารบางอย่างในปัสสาวะของแต่ละคนต่างกันไป โดยก้อนนิ่วมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ผลึกแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลท (Calcium oxalate) ซึ่งพบบ่อยกว่าผลึกของสารเคมีชนิดอื่น กลไกการเกิดโรคนิ่วในไตที่สำคัญ คือ มีการโตและการเกาะกลุ่มกันของผลึกแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลทจนกลายเป็นก้อนนิ่ว”

                ด้วยเหตุผลดังกล่าวผมและทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร. สมชาย ชุติพงษ์ธเนศ  ผู้เป็นกำลังสำคัญ  .นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์,อ.นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ  และผู้ร่วมวิจัยอีกหลายท่าน ได้ตั้งสมมติฐานว่า “ในปัสสาวะของคนปกติน่าจะมี โปรตีนบางชนิดที่สามารถยับยั้งการโตและการเกาะกลุ่มกันของผลึกแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลท ทำให้ไม่เกิดก้อนนิ่ว”

                ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในปัสสาวะของคนปกติมีโปรตีนที่ชื่อว่า “เทร-ฟอยล์-แฟคเตอร์-วัน” (Trefoil factor 1 หรือ TFF1) มากกว่าในปัสสาวะของผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต ประมาณ 2 – 3 เท่า โดยโปรตีน TFF1 มีคุณสมบัติในการยับยั้งการโตและการ เกาะกลุ่มกันของผลึกแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลทได้ดี นับเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าโปรตีน TFF1 สามารถยับยั้งกลไกการเกิดก้อนนิ่วได้ โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในวารสารการแพทย์ “Journal of Clinical Investigation” ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับ นานาชาติ

                การค้นพบครั้งนี้อาจนำมาสู่การพัฒนาวิธีการรักษา และป้องกันการเกิด โรคนิ่วในไตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อาจต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าจะไปถึงจุดนั้น เพราะการนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาใช้กับผู้ป่วยนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและจะต้องมี มาตรฐาน ที่สำคัญต้องมั่นใจว่าเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการรักษาโดยวิธีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีโอกาสเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยน้อย

 นอกจากโรคนิ่วในไตแล้ว ทีมวิจัยยังได้นำเอาเทคโนโลยี “โปรตีโอมิกส์” (Proteomics) ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบชนิด ปริมาณ และหน้าที่ของโปรตีนจำนวนมาก ในคราวเดียวกันอย่างเป็นระบบ มาศึกษาวิจัยโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคด้วยกัน อาทิ โรคไต ที่เกิดจากภาวะขาดโปแตสเซี่ยม โรคไตชนิดอื่น โรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ โดยโครงการ วิจัยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจาก..คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล , มูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ , ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)                                         

โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยเหล่านี้ จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ที่ทำให้เข้าใจถึงพยาธิกำเนิดและกลไกการเกิดโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผลของการรักษาดีขึ้น ภาวะแทรกซ้อนของโรคลดลง ระยะเวลา การรักษาโรคในโรงพยาบาลสั้นลง นอกจากนี้ อาจมีการค้นพบตัวบ่งชี้และ พยากรณ์โรค (Biomarkers) ซึ่งนำมาสู่การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วและแม่นยำ มากขึ้น รวมทั้งอาจมีการค้นพบเป้าการรักษาใหม่ (Novel therapeutic targets) และมีการพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ท้ายที่สุด อาจนำมาสู่การพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่อไป

“ในอนาคต ผมและทีมวิจัยพร้อมที่จะมุ่งมั่นทำให้ งานวิจัยทางด้าน “โปรตีโอมิกส์” ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก้าวสู่ระดับสากลทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ อันจะนำมาซึ่งชื่อเสียงและ เกียรติภูมิของคณะฯ สืบไปครับ”

ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ อ.นพ. วิศิษฎ์ ได้รับ “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล” สาขา การวิจัย ประจำปีการศึกษา 2549  โดยเข้ารับ พระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษา ม.มหิดล เมื่อวันที่ 5 .. ที่ผ่านมา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร