ศิริราช- แอสตร้าเซเนก้า ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการ Initiatives for Genetic-Related Cancers and Precision Oncology เพื่อผลักดันการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง

        ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ‘Initiatives for genetic-related cancers and precision oncology’ สานต่อความมุ่งมั่นในการไขรหัสพันธุกรรมเซลล์มะเร็ง
        วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ศาสาตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ‘Initiatives for genetic-related cancers and precision oncology’ เพื่อมุ่งส่งเสริมดูแลและป้องกันโรคมะเร็งที่มีพื้นฐานทางพันธุกรรม พร้อมผลักดันการนำเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูพันธุศาสตร์ เวชพันธุศาสตร์ และการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมณี รัตนไชยานนท์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศล สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิ์ สาธรสุเมธี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารศูนย์วิจัยทางการแพทย์ศิริราช (SiMR) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
        การลงนามความร่วมมือนี้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสานต่อพันธกิจใน 6 เรื่องหลัก ได้แก่การขับเคลื่อนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ การร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง การตรวจหาความบกพร่องของกระบวนการซ่อมแซมรหัสพันธุกรรม (Homologous Recombination Deficiency testing หรือ HRD) และการตรวจยีนมะเร็งกลายพันธุ์ ด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing หรือ NGS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้สำหรับการหาลำดับเบสหรือรหัสสารพันธุกรรม ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมร่วมส่งเสริมการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน รวมถึงการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้แก่ผู้ป่วยได้ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น
        ศาสาตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช มีความมุ่งมั่นที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม ร่วมกับข้อมูลสุขภาพ เพื่อใช้ทำนายโอกาสการเกิดโรค ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพราะแต่ละคนอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น การตรวจยีนเพื่อหาการกลายพันธุ์ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการวินิจฉัย และเลือกการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ทำให้แพทย์สามารถปรับแนวทางการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดกับผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิต เพราะมะเร็งนั้น หากรู้ไว และเลือกการรักษาที่เหมาะสม สามารถรักษาให้หายได้”
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จากัด กล่าวว่า “แอสตร้าเซนเนก้า มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มศักยภาพการตรวจคัดกรองและรักษาโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปอด มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ซึ่งรวมไปถึงโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตร อย่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เราจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น ร่วมไปกับการพัฒนาเครื่องมือประเมินความเสี่ยงมะเร็ง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เจาะลึกถึงระดับโมเลกุล ซึ่งถือเป็นการยกระดับการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจทางพันธุกรรมที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม มอบผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้นและอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้นของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย”
        ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อพันธกิจของโครงการ “We Care เพราะเราแคร์คุณ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในสตรี ได้แก่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งที่พบบ่อยในบุรุษ อย่าง มะเร็งต่อมลูกหมาก ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม เพื่อส่งต่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค