ศิริราชมุ่งหน้าโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ลดอัตราการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็น พร้อมกระชับสายสัมพันธ์อันดีของครอบครัว

        ตลอดระยะเวลา 9 เดือน หรือประมาณ 40 สัปดาห์ที่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านมักเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อย อาทิ การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ การฟังเพลง เป็นต้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยใกล้ลืมตาดูโลก คุณแม่อาจมองข้ามสิ่งหนึ่งไป นั่นคือ การเลือกวิธีคลอดให้เหมาะสม โดยในปัจจุบันการทำคลอดมีหลายวิธี การผ่าคลอดถือเป็นหนึ่งวิธีที่ได้ความนิยมและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการผ่าคลอดส่วนหนึ่งนั้นทำโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้
        ในทางกลับกัน เพื่อประสบการณ์ที่ดีของคุณแม่ต่อการตั้งครรภ์และการคลอด องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คลอดตามธรรมชาติเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่จะช่วยส่งผลดีหลากหลายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ น้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่า ลูกน้อยมีภาวะแทรกซ้อนทางการหายใจน้อยกว่า มีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า สามารถเริ่มให้นมแม่ได้เร็วกว่า เป็นต้น นอกจากนั้นยังส่งผลดีในระยะยาว เช่น ลดความเสี่ยงของภาวะรกเกาะลึกในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป ลดความเสี่ยงของลูกน้อยต่อโรคภูมิแพ้ ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน รวมทั้งกลุ่มอาการเมตอบอลิกได้อีกด้วย 
        ถึงแม้การคลอดตามธรรมชาติจะมีข้อดีมากมาย แต่คุณแม่หลายท่านมักเกิดความกังวลหรือกลัวในระหว่างกระบวนการเจ็บครรภ์คลอด ถึงแม้จะมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ด้วยก็ตาม องค์การอนามัยโลกจึงให้ความเห็นว่าการมี “เพื่อนผู้คลอด” (Companion of choice during labor) ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี โดยคุณแม่สามารถเลือกบุคคลที่ไว้วางใจเข้าไปในห้องคลอดได้ อาทิ สามี ญาติ เพื่อนสนิท เป็นต้น โดยจากงานวิจัยและข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าหากมีเพื่อนผู้คลอดจะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ในด้านร่างกายและจิตใจให้อยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการคลอด ลดความตึงเครียด ความกังวลและความกลัวที่อาจจะเกิดขึ้น ลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด ช่วยในการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างกระบวนการเจ็บครรภ์ เพิ่มความพึงพอใจในการรับบริการ รวมถึงอาจช่วยลดการผ่าคลอดที่ไม่จำเป็นลงได้ แต่ในปัจจุบันการมีเพื่อนผู้คลอดยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากระบบบริการอันซับซ้อนและยังขาดความเข้าใจและความร่วมมือจากบุคลากรหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วไป
        ศ.คลินิก นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร กล่าวว่า ความร่วมมือถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการสร้างปรากฎการณ์ “เพื่อนผู้คลอด” แก่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลระดับตติยภูมิขนาดใหญ่ของประเทศที่มีความเป็นมายาวนานถึง 135 ปี เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการ ทั้งนี้ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารคณะฯ ทีมแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน พยาบาลหน่วยฝากครรภ์ และพยาบาลประจำห้องคลอด ในการวางแผนสำหรับดำเนินงาน โดยมีการรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สู่การปรับปรุงแผนให้พร้อมสำหรับการลงมือปฏิบัติจริง ตลอดจนการพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความประสงค์เข้าร่วมโครงการของคุณแม่และญาติ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ได้รับเสียงตอบรับเกินความคาดหมายที่ตั้งเป้าไว้
        ในการเข้าร่วมโครงการเป็น “เพื่อนผู้คลอด” นั้น สตรีตั้งครรภ์ที่วางแผนจะคลอดเองตามธรรมชาติที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นผู้ป่วยพิเศษหรือสามัญจะคลอดในช่วงในหรือนอกเวลาราชการ เพียงแต่สตรีตั้งครรภ์และเพื่อนผู้คลอดจำเป็นต้องผ่านการอบรมจากพยาบาลในเรื่องกฎ กติกา ความรู้ที่จำเป็น และการปฏิบัติตน ระหว่างการเป็นเพื่อนผู้คลอด รวมทั้งจะมีการเยี่ยมชมห้องคลอดเพื่อสร้างความคุ้นเคย ดังนั้น คำว่า “เกะกะ” หรือ “รบกวน” จึงไม่มีอยู่ในโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ที่สำคัญหลายเสียงของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องคลอดยังยืนยันว่า การมีญาติที่คุณแม่ไว้ใจอยู่ข้างกายระหว่างคลอดนั้น สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในส่วนของการสนับสนุนทางร่างกาย “เพื่อนผู้คลอด” จำเป็นในการช่วยคุณแม่ขยับร่างกายให้อยู่ในท่าทางที่สบาย หรือบีบนวดเบาๆ เพื่อให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น การสนับสนุนทางด้านจิตใจ คอยให้กำลังใจและสร้างพลังบวกตลอดการทำคลอด อีกทั้งยังช่วยสื่อสารกับแพทย์และพยาบาลแทนคุณแม่ที่กำลังเจ็บครรภ์ รวมถึงอธิบายให้คุณแม่ทราบในเรื่องที่แพทย์และพยาบาลต้องการสื่อสาร คุณแม่จึงเกิดความผ่อนคลาย ส่งผลให้กระบวนการคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น ก่อนที่จะได้ยินเสียงร้องของลูกน้อยดังขึ้นให้ชื่นใจ นอกจากนี้ยังมีการเก็บภาพวินาทีแสนประทับใจของครอบครัวเป็นที่ระลึก ภาพใบหน้าที่เต็มไปด้วยเหงื่อของคุณแม่ แต่สะท้อนถึงความปลาบปลื้มใจ รอยยิ้มที่สุดแสนวิเศษของ “เพื่อนผู้คลอด” และลูกน้อยตัวจิ๋วในอ้อมกอดอันอบอุ่น เป็นภาพที่มีคุณค่าต่อจิตใจกับทุกคนในครอบครัว 
        จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า มีสตรีตั้งครรภ์และญาติสนในเข้าร่วมโครงการโดยความสมัครใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากการประเมินผลพบว่าสามารถเพิ่มความพึงพอใจของสตรีตั้งครรภ์และญาติได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสตรีตั้งครรภ์และญาติกับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย ส่วนอัตราการผ่าตัดคลอดนั้น ก็เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลรักษาของโรงพยาบาล 
        สตรีตั้งครรภ์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” นั้น สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยฝากครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช โทร 02 419 8815 หรือ 02 419 7367 ในเวลาราชการ และสำหรับโรงพยาบาลที่มีความประสงค์จัดทำโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โทร 02 419 7000 ต่อ 4666, 4777, 4888 หรือ 4999