GARDP จับมือกับ SICRES เสริมความแกร่งด้านการวิจัยทางคลินิก โดยมีเป้าหมายหลักมุ่งเน้นการรักษาโรคติดเชื้อที่ดื้อยาครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย

         เจนีวา และ กรุงเทพมหานคร, 28 กุมภาพันธ์ 2023   องค์กร The Global Antibiotic Research and Development Partnership หรือ GARDP ได้ลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมกับศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ SICRES เพื่อความร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยของการดื้อยาต้านจุลชีพ โดย GARDP และ SICRES มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเร่งการพัฒนา และการเข้าถึงยารักษาโรคติดเชื้อที่ดื้อยาในประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง และส่งเสริมความแกร่งด้านการวิจัยและพัฒนาทางคลินิกที่ไม่แสวงหาผลกำไรของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยและคาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีความเสี่ยงสูงสุดด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อสุขภาพ และสุขภาวะของประชากรทั่วทั้งภูมิภาค

        SICRES และ GARDP ได้เริ่มทำงานร่วมกันในโครงการวิจัยทางคลินิก ระยะที่ 3 ของยารักษาโรคหนองในตัวใหม่ (gonorrhoea) ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านขั้นตอนการจัดเตรียม ตลอดจนการดำเนินงานด้านวิจัยของ SICRES ในไทย โครงการดังกล่าวยังมีไซด์งานวิจัยอื่น ๆ ทั่วโลกในประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา หนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้จะปูทางสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนายาปฏิชีวนะอีกหลากหลายโครงการในอนาคต 

        “เรารู้สึกตื่นเต้นกับการขยายงานของเราในไทยร่วมกับ SICRES ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพ และความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ เพื่อการพัฒนา และการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างทั่วถึงในไทย และครอบคลุมประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้” กล่าวโดย เชมุส โอไบรอัน ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนา GARDP “ทั้ง GARDP และ SICRES มีพันธสัญญาร่วมกัน เพื่อริเริ่มการวิจัยทางคลินิกสำหรับยาปฏิชีวนะ ความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการดำนเนินงาน คือ สาธารณสุขของประชากรทั่วทั้งภูมิภาค”

        “หนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร เพื่อดำเนินงานด้านการวิจัยทางคลินิกที่ไม่แสวงหาผลกำไร จะผลักดันประเทศไทยให้โดดเด่น และมีชื่อเสียงด้านการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาของภูมิภาคนี้ SICRES มีความกระตือรือร้นที่จะนำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาขององค์กร เพื่อช่วยปูทางสู่ความสำเร็จในโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกับ GARDP” กล่าวโดย รศ. นพ. วินัย รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก

        หนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ ได้กำหนดขอบเขตการทำงานที่ทั้งสององค์กรเห็นถึงศักยภาพ และความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางคลินิกของยาปฏิชีวนะ การจัดการข้อมูล การประเมินประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ  วัตถุประสงค์อื่น ๆ ครอบคลุมถึงการนำผลการวิจัยที่พัฒนาร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายระดับประเทศ และการปรับปรุงการเข้าถึงยาต้านจุลชีพให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยมีความจำเป็นใช้ยาในภูมิภาคนี้  

        เกี่ยวกับ คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ผลิตบัณฑิต บุคลากรด้านสุขภาพ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงนักวิจัยการแพทย์ที่ผลิตผลงานวิจัยอันโดดเด่น ยังประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และเวชปฏิบัติ สถาบันการแพทย์อันเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางแห่งนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางในหลากหลายสาขา เพียบพร้อมด้วยฝีมือ และประสบการณ์ ที่พร้อมส่งมอบความเป็นเลิศด้านคุณภาพบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยด้วยมาตรฐานสากล นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  และเป็นสถาบันหลักในด้านสร้างเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่ศรัทธา และเชื่อถือของคนไทยทั้งประเทศ  https://www.si.mahidol.ac.th/th/

        เกี่ยวกับ SICRES
        ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (SICRES) เป็นศูนย์วิจัยคลินิกครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล SICRES ให้บริการด้านการวิจัยทางคลินิกอย่างหลากหลายครบวงจร ด้วยบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างเข้มข้น มากด้วยประสบการณ์ สถานที่วิจัยมีความเพียบพร้อมด้วยเครื่องมือทันสมัย ที่จะทำให้การวิจัยทางคลินิกตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึง ระยะที่ 4 และการศึกษาชีวสมมูล (Bioequivalence Studies) มีคุณภาพเทียบระดับสากล มีการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลในทุกขั้นตอนของการวิจัยอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการจัดการระดับมืออาชีพจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ของศูนย์วิจัยคลินิก https://sicres.org/

        เกี่ยวกับ GARDP
        The Global Antibiotic Research and Development Partnership (GARDP) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร สัญชาติสวิส มุ่งเน้นด้านการวิจัยยาขนานใหม่ สำหรับรักษาเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งนับวันจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น  GARDP ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยการร่วมมือระหว่าง องค์การอนามัยโลก (WHO) และ the Drugs for Neglected Diseases initiative (DNDi) และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2018 มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ทุกคนที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิผลสูงสุด สามารถเข้าถึงยารักษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ ณ ที่แห่งใดของโลก องค์กรจึงมุ่งวิจัยค้นคว้าหายารักษาใหม่ ๆ เพื่อสู้กับอาการดื้อยาปฏิชีวนะ โดยมุ่งเน้นที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อแบคทีเรียของทารกแรกเกิด และการติดเชื้ออื่น ๆ ในผู้ใหญ่และเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล GARDP ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลหลากหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก โมนาโค เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และรัฐเจนีวา รวมถึง องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน และมูลนิธิส่วนตัวอื่น ๆ องค์กรได้จดทะเบียนตามกฎหมายภายใต้ชื่อ มูลนิธิ GARDP  www.gardp.org