ปาฐกถาเทิดพระเกียรติฯ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564

          วันนี้ (24 ก.ย. 64) เวลา 09.00 - 10.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดงานปาฐกถาเทิดพระเกียรติฯ  เนื่องในวันมหิดล ประจำปี  2564  เรื่อง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กับบทบาทผู้ผลิตวัคซีนโควิด 19  เรื่อง การพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรม และองค์กร PATH   และเรื่อง ความก้าวหน้า COVID-19 mRNA Vaccine ประเทศไทย  ผ่านระบบ Virtual Meeting  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

          รื่อง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กับบทบาทผู้ผลิตวัคซีนโควิด 19 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า  “บริษัท สยามไบโอไซเอนส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2552 จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม โดยดำเนินการวิจัย พัฒนาและผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

          ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19  บริษัท สยามไบโอไซเอนส์ จำกัด ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เอสซีจี และแอสตร้าเซเนก้า ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโรคโควิด 19 (AZD1222) ในวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เพื่อให้คนไทยและประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา บริษัทฯ ใช้ความพร้อมและประสบการณ์ด้านการผลิตชีววัตถุโดยใช้ Recombinant Technology จากเซลล์สัตว์มาปรับใช้ในการผลิตวัคซีนประเภท Viral Vector ของแอสตร้าเซเนก้า จนปัจจุบันได้ผ่านการประเมินคุณภาพการผลิตวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ทันเวลา นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการผลิตวัคซีน เพื่อพัฒนาและขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต”  

          การพัฒนาวัคซีนระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรม และองค์กร PATH  ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากนั้น ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เองเพื่อใช้ในประเทศ นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศแล้ว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรมและองค์กร Program for Appropriate Technology in Health (PATH)  จึงได้พัฒนาวัคซีนวิจัยป้องกันโรคโควิด 19 NDV-HXP-S ขึ้น โดยใช้ไวรัสนิวคาสเซิล (NDV) สายพันธุ์ LaSota ซึ่งไม่ก่อโรคในคน นำไปตัดแต่งเพิ่มรหัสพันธุกรรมของโปรตีนส่วนหนาม-ส่วน S ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 แล้วเสริมด้วยเทคโนโลยี Hexapro 

          ปัจจุบันได้ทำการวิจัยระยะที่ 1 โดยฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 เข็มในอาสาสมัครจำนวน 210 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อศึกษาความปลอดภัย ความทนทานของวัคซีนในขนาดต่าง ๆ และความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ผลการศึกษาพบว่า เกิดอาการข้างเคียงเฉพาะที่ได้ เช่น ปวด และกดเจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน เกิดอาการข้างเคียงเชิงระบบ (เช่น ไข้) น้อย และไม่เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลย นอกจากนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อส่วนหนามของไวรัสและภูมิต้านทานชนิดลบล้างฤทธิ์ได้ดี  จากผลการวิจัยดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการวิจัยในระยะที่ 2 ในอาสาสมัครจำนวน 250 คนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มการวิจัยแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม  2564 ที่ผ่านมา”

          ความก้าวหน้า COVID-19 mRNA Vaccine ประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม  ผู้อำนวยการการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จากปัญหาความเหลื่อมล้ำของการจัดการวัคซีนทั่วโลก ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เอง    เพื่อใช้ในประเทศ วัคซีน mRNA มีข้อดี คือ ระยะเวลาการผลิตสั้น ต้นทุนการผลิตในระยะยาวต่ำ และประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวัคซีนวิจัย mRNA ป้องกันโรคโควิด 19 Chula-Cov19 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยระยะที่ 1 เพื่อศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนในขนาดต่าง ๆ และความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ทั้งต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลต้า ผลการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 36 คนในช่วงอายุ 18-55 ปี พบว่า เกิดอาการข้างเคียงเฉพาะที่ได้  เช่น ปวดบริเวณตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน เกิดอาการข้างเคียงเชิงระบบได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไข้ และหนาวสั่น ซึ่งพบมากขึ้นหลังได้วัคซีนเข็มที่ 2  (ทั้งนี้อาการทั้งหมดดีขึ้นได้ภายใน 1-2.5 วัน) และไม่เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลย วัคซีนสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานชนิดลบล้างฤทธิ์ได้ดีทั้งต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยระยะที่ 1 เพิ่มเติมในอาสาสมัครในช่วงอายุ      56-75 ปี และระยะที่ 2 ในอาสาสมัครในช่วงอายุ 18-59 ปี รวมถึงในอนาคตอาจมีการศึกษาวัคซีนดังกล่าวเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นต่อไป” 

พญ.กมลวรรธก์ สุทธิภูล
สำนักงานผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช
ผู้สรุปสาระสำคัญ