133 ปี รพ.ศิริราช 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

        วันนี้ (31 มี.ค. 64)  เวลา 10.00 น.  ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ  “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย”  ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2564 - 2565 โดยมี รศ. นพ.เฉนียน  เรืองเศรษฐกิจ  หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  รศ. ดร. นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์  รศ. นพ.สิทธิพร  ศรีนวลนัด หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา  ผศ. นพ.วรบุตร  ทวีรุจจนะ  สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป พร้อมด้วยผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ร่วมแถลงข่าว  ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

        ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ม.มหิดล กล่าวว่า  นับเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิด รพ.ศิริราช จนถึงปัจจุบัน 133 ปี รพ.ศิริราชให้บริการรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกเศรษฐานะตามพระราชปณิธานเสมอมา และในโอกาส 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ (เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2460 มีประกาศจัดตั้งกองศัลยกรรมเป็นหน่วยงานย่อยในคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลศิริราช) จนเมื่อ พ.ศ. 2512 มีประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้หน่วยงานที่เป็นแผนกวิชาเปลี่ยนเป็นภาควิชาตั้งแต่นั้นมา  ภาควิชาศัลยศาสตร์จึงถือเป็นหนึ่งในเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรงที่ต่อยอดไปสู่สาขาวิชาอื่น ๆ  ตลอดระยะเวลามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างผลงานและนวัตกรรม มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 

        ด้วยระยะเวลา 133 ปี รพ.ศิริราช  และ 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  พ.ศ. 2564-2565  โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาสซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้หายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข โดยไม่เป็นภาระแก่สังคม 

        สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ป่วยทั้ง 237 รายนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการวินิจฉัยว่า จะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยต้องผ่านการประเมินเศรษฐานะจากนักสังคมสงเคราะห์ รพ.ศิริราช ผู้ป่วยในโครงการจะได้รับการรักษาและเข้าพักในหอผู้ป่วยสามัญเท่านั้น

        รศ. นพ.เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ  หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  กล่าวถึง 104 ปี  พัฒนาการด้านการรักษาโรคด้วยการผ่าตัดว่า “ศัลยศาสตร์ศิริราช ได้ก่อตั้งเป็นที่แรกของวงการศัลยศาสตร์ในประเทศไทย โดยมีบูรพคณาจารย์เป็นผู้วางรากฐาน และสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาต่อยอดเติบใหญ่  จนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  ตลอดเวลามีการพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างไม่หยุดยั้ง  ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้อาจารย์มีการพัฒนาศักยภาพจนเป็นบุคคลากรชั้นนำ การริเริ่มการรักษาใหม่ ๆ ให้ทัดเทียมสากล การสนับสนุนแนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเรียนการสอน สร้างศัลยแพทย์มากมาย และนวัตกรรมทางศัลยศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาควิชาศัลยศาสตร์เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางให้กับวงการศัลยศาสตร์ของประเทศ”

        รศ. ดร. นพ.วิทูร  ชินสว่างวัฒนกุล   หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป กล่าวถึง การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ว่า  “การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายสูงและมีใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่ง  การผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ การผ่าตัดเนื้องอกหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เนื้องอกตับอ่อน  ไส้เลื่อนช่องกะบังลม เป็นต้น  การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้คนไข้เลือกวิธีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดซึ่งเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์ แม้ว่าแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะต้องผ่านการฝึกฝน และทดสอบจนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อฝึกใช้งานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจนคล่องแคล่วแล้ว แพทย์ก็จะสามารถผ่าตัดที่ซับซ้อน และทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่อีกต่อไป คุณภาพชีวิตของคนไข้ก็ดีขึ้นตามไปด้วย หากแต่ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญในเรื่องค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์มูลค่าหลายสิบล้าน ส่งผลให้ค่าผ่าตัดต่อครั้งอยู่ที่หลักหลายแสนบาท แต่ในอนาคตเราก็หวังว่าสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพคนไข้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในที่สุด” 

        รศ. นพ.สิทธิพร  ศรีนวลนัด  หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา กล่าวถึง การผ่าตัดรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะด้วยหุ่นยนต์ว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery) โดยริเริ่มผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นรายแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถือเป็นจุดเริ่มต้นและสร้างชื่อเสียงของสถาบัน

        การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นที่ยอมรับทั้งในแง่ของระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยอย่างเร็ว ภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดน้อย รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดต่อยอดเพิ่มขึ้น เช่น การผ่าตัดมะเร็งที่ไต หรือการผ่าตัดแก้ไขภาวะอุดตันของท่อไต เป็นต้น ปัจจุบันได้จัดโครงการเพื่อพัฒนาความรู้สู่ศูนย์ความเป็นเลิศ Center of Excellent ในด้านการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากให้เป็นโครงการที่สร้างชื่อเสียงของสาขาวิชาศัลยศาสตร์  ยูโรวิทยา เราได้ทำการผ่าตัดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไปแล้วกว่า 2,300 ราย ซึ่งนับเป็นการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมากที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

        อีกทั้งได้มีการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ให้ได้หลากหลายมากขึ้น  สามารถผ่าตัดครอบคลุมโรคระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น เช่น ผ่าตัดไต ต่อมหมวกไต และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น อีกทั้งยังลดภาวะแทรกซ้อนทางการผ่าตัด เช่น  ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลง แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลหลังการผ่าตัดน้อยลง  สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแผลผ่าตัดได้”

        ผศ. นพ.วรบุตร   ทวีรุจจนะ  อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป กล่าวถึง การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนด้วยหุ่นยนต์ว่า  “ปัจจุบันการผ่าตัดโรคอ้วนด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทำกันทั่วโลก เนื่องจากช่วยให้คนไข้ปลอดภัย แผลผ่าตัดขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย และเกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ น้อยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธียังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการผ่าตัดได้ทุกระบบ เช่น การผ่าตัดมะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี เป็นต้น

        นอกจากนี้การผ่าตัดด้วยวิธีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะโรคอ้วนทุพพลภาพ (Robotic-assisted bariatric surgery) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบันสามารถทำได้ปลอดภัย และให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง สามารถลดน้ำหนักคนไข้ได้มาก และทำให้โรคประจำตัวต่าง ๆ ของคนไข้ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น หายขาดหรือดีขึ้น ทำให้คนไข้มีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้นภายหลังการผ่าตัดอีกด้วย สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีความสุข  อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยวิธีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เรื่องค่าใช้จ่ายสูงทำให้คนไข้เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น การมีโครงการช่วยเหลือครั้งนี้ จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มากขึ้น นับเป็นประโยชน์แก่คนไข้อย่างยิ่ง”     

        “จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมด้วยศักยภาพของทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ประสบผลสำเร็จ  ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  คณะฯ จึงมีความยินดีที่จะช่วยประชาชนชาวไทยทุกคนให้เข้าถึงการรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด  เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และหากได้ทราบข่าวและมีจิตศรัทธายินดีร่วมสมทบกองทุนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถติดต่อบริจาคสมทบทุนโครงการฯ แจ้งความประสงค์สมทบทุน ได้ที่ศิริราชมูลนิธิ  รหัสทุน D707070  จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. (หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนัตฤกษ์) สอบถาม โทร. 02 419 7658-60  LINE: @sirirajfoundation หรือสอบถามข้อมูลผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการได้ที่  ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.ศิริราช  โทร. 02 419 7611 หรือ โทร. 02 419 7132 

        ในโอกาสเดียวกันนี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2564 จะมีพิธีเปิด Grand Opening พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ เป็นบันทึกความทรงจำอันยิ่งใหญ่ของศัลยศาสตร์ศิริราช จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน  **นำท่านสู่จุดกำเนิดแห่งวงการศัลยแพทย์ไทย...บอกเล่าเรื่องราวของภาควิชาศัลยศาสตร์ ที่มีอายุยาวนานกว่า ๑๐๔ ปี  พบกับปูชนียแพทย์ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการผ่าตัด **สัมผัสบรรยากาศห้องผ่าตัดจำลองในยุคต่าง ๆ ราวกับได้เข้าไปมีส่วนร่วมในห้องผ่าตัดยุค   นั้น ๆ  **ได้เรียนรู้โรคทางศัลยกรรมที่หลากหลาย ทั้งโรคที่พบบ่อยจนไปถึงโรคที่หายากต้องอาศัยวิธีรักษาที่ซับซ้อนด้วยเทคนิคการผ่าตัดขั้นสูง โดยนำเสนอผ่านชิ้นเนื้อของจริงตามระบบอวัยวะต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก  **ชมการผ่าตัดเสมือนจริงด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดภายใต้เทคนิคล้ำสมัยเหนือจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 10.00 - 16.30 น. (หยุดวันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์)” ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์  กล่าวปิดท้าย