ศิริราช ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ที่มีความโดดเด่นด้านปฏิบัติการ ประจำปี 2563

        วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี และศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดวงมณี  เลาหประสิทธิพร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวการประกาศผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ที่มีความโดดเด่นด้านปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus: Operation) ประจำปี 2563 โดยจะเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในเดือนมีนาคม 2564 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

        ทั้งนี้  Thailand Quality Class Plus ด้าน Operation เป็นรางวัลที่ให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการที่เป็นเลิศในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการเพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจ ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โลก โดยกระบวนการประเมินรางวัล สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติอ้างอิงจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) และพิจารณาตัดสินตามเกณฑ์ 7 หมวด ได้แก่ 1) การนำองค์กร 2) กลยุทธ์ 3) ลูกค้า 4) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5) บุคลากร 6) การปฏิบัติการ และ 7) ผลลัพธ์ 

        ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เปิดกว้างให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อทบทวนและกำหนดทิศทาง บทบาทและเป้าหมายขององค์กร ทำให้มองเห็นโอกาสพัฒนา และการเรียนรู้ในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมุ่งเป้า คณะฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ในการเป็นองค์กรที่เป็นเลิศ มุ่งสู่อนาคตด้วยผลงานที่เป็นเลิศ รวมทั้งการเป็นผู้นำและชี้นำด้านทางการแพทย์ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล และสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ระดับประเทศและระดับโลก โดยดำเนินการในรูปแบบการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมขององคาพยบต่างๆ มีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนั้น การนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ได้ก่อให้คณะฯ เกิดความสามารถในการบูรณาการพันธกิจที่สำคัญๆ ทั้ง 3 พันธกิจ (การศึกษา การวิจัย และการดูแลรักษาพยาบาลและการบริการวิชาการ) ได้อย่างกลมกลืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมอย่างยั่งยืน