ประเทศไทยจับมือ 23 ประเทศ จัดแคมเปญรณรงค์ “วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย” ด้วยการประดับตกแต่งไฟอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา รพ.ศิริราช

        กรุงเทพฯ – 30 มกราคม 2564   นับเป็นปีที่ 2 ของการจัดงานวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เพื่อรณรงค์ให้ชาวโลกรวมถึงชาวไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่ผู้ป่วยได้รับจากโรคกลุ่มนี้ ทั้งในด้านความเจ็บป่วยทางร่างกาย ความพิการ และความยากจน ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาวต่อประชากรโลกในรุ่นต่อไป  จากสถิติผู้ป่วย 1.7 พันล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน พบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุที่โรคกลุ่มนี้สามารถป้องกันได้ จึงไม่ควรที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนับพันคนในแต่ละปี หรือป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต ความตระหนักรู้และการป้องกันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหยุดวัฏจักรอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ได้ 

        เหตุนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้แทนประเทศไทยได้ร่วมกับ สำนักพระราชวังของมกุฎราชกุมาร อาบูดาบี มูลนิธิ บิล และ มิลินด้า เกทส์ ศูนย์คาร์เตอร์ ดิ เอนด์ฟัน รวมถึง Uniting to Combat NTDs และ DNDi และกว่า 300 องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การสาธารณสุข และผู้นำธุรกิจอีกมากมายทั่วโลก ต่างร่วมใจกันใช้โอกาสของวันดังกล่าวในการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนและส่งสาร ทำให้เกิดความร่วมมือในการกำจัดโรคกลุ่มนี้ให้หมดสิ้นไปจากโลก 

        ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  “เราได้เลือกอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช เพื่อประดับไฟให้สว่างไสว จุดประกายความหวัง เฉกเช่นพระราขปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงอุทิศพระวรกาย พระสติปัญญา ทรงงานเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสในสังคมไทยให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง อาคารนี้เป็นโครงการสุดท้ายที่พระองค์ทรงมอบให้โรงพยาบาลศิริราช  เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

        ประเทศไทยประสบความสำเร็จในความมุ่งมั่นเพื่อกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยบางโรค เช่น โรคเท้าช้าง และโรคเรื้อน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการกำจัดและป้องกันโรคกลุ่มนี้ในประเทศไทย  โดย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)  และพระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) พระองค์ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์ไทย ทั้งทรงมีพระราชดำริในการต่อสู้กับวัณโรคอย่างจริงจัง ด้วยการเสริมความรู้ สร้างความตระหนัก ตลอดจนทางเลือกของการรักษาโรคดังกล่าว เพื่อลดภาระอันเกิดจากโรคร้ายนี้  นอกเหนือจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังทรงสนับสนุนกิจกรรมระดับชาติของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำจัดโรคเรื้อน และโรคเท้าช้าง ตลอดจนการตั้งฐานผลิตวัคซีนสำหรับวัณโรคในไทย ในด้านการป้องกัน พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้สานต่อโครงการปราบยุงลาย ที่คั่งค้างมานานอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาพาหะนำโรคและกำจัดให้หมดไปในที่สุด 

        โดยที่ประชากรโลกประมาณร้อยละ 24  ได้รับผลกระทบจากโรคกลุ่มนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้ามีส่วนร่วมของประเทศไทยกับนานาชาติในแคมเปญนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความยากลำบากในแต่ละวันของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เสี่ยงต่อการติดโรคกลุ่มนี้  ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะเป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องของกระบวนการรับรู้และพัฒนาการ  ในกลุ่มที่อาการวิกฤตจะเกิดภาวะขาดสารอาหาร จนถึงขั้นเสียชีวิต

        ในช่วงเวลาที่โลกเรารู้สึกใส่ใจและเข้าใจถึงความยากลำบากอันเกิดจากการคุกคามของโรคระบาดชนิดต่าง ๆ จึงเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนที่จะร่วมกันกำจัดโรคร้ายต่าง ๆ เหล่านี้ที่มีวิธีสามารถป้องกันได้อย่างดี อีกทั้งความสนใจของคนทั่วโลกตอนนี้อยู่ที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งในภาวะวิกฤตจากโรคอุบัติใหม่ยังผลต่อการถ่ายเททรัพยากรจากปัญหาสาธารณสุขโลกที่จำเป็นอื่น ๆ อย่างโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพในประชากรกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น

        นอกเหนือจากนี้ องค์การอนามัยโลก ได้เปิดตัว NTD Roadmap ในวันที่ 28 มกราคม 2564 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสอดคล้องกับแคมเปญนี้ โดยมี ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เป็นประธานการเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ "Ending the neglect to attain the Sustainable Development Goals: A road map for neglected tropical diseases 2021-2030”  รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดลงทะเบียนที่ http://bit.ly/NTD-roadmap

        เราควรใช้โอกาสแห่งการร่วมมือกันแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับ #COVID19 เพื่อจัดการกับปัญหาของโรค NTD ด้วยเช่นกัน ด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในทุกประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างพันธมิตร เสริมความแข็งแกร่งในเจตจำนงทางการเมือง ตลอดจนการผลิตทรัพยากรที่จำเป็นที่จะนำเราไปสู่ปลายทางของการกำจัดโรคร้ายกลุ่มนี้ ปลดพันธนาการความเสี่ยงต่อสุขภาพ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรโลกให้ดียิ่งขึ้น

ดูประมวลภาพ >>>