ศิริราชพร้อมจัดสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ต้นแบบการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

        วันนี้ (12 ก.ค. 62)  เวลา 10.30 น. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ นายสมคิด จันทมฤก  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แถลงข่าว “โครงการจัดสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ” โดยมี  ศ.นพ.ประเสริฐ   อัสสันตชัย  รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ รศ.นพ.วิศิษฎ์  วามวาณิชย์  ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช  คุณแพนเค้ก-เขมนิจ และคุณนงนวล จามิกรณ์    พร้อมด้วยคณะกรรมการ ฯ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมด้วย ณ ห้องจุฬาภรณ์  ตึกสยามินทร์  ชั้น 2 รพ.ศิริราช  

        ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย ที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก กล่าวคือ มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรไทย และสูงเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ได้มีการพัฒนาด้านการศึกษา การวิจัยและการบริการอย่างต่อเนื่อง

        บัดนี้ ด้วยการสนับสนุนจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้แผนบูรณาการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ดำเนินโครงการจัดสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องด้วยความพร้อมและศักยภาพในการรองรับการดำเนินการในหลายด้านของจังหวัด จึงนำมาสู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับจังหวัดสมุทรสาคร โดยมุ่งหวังให้ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบของประเทศ โดยเฉพาะการดูแลระยะกลาง (intermediate care) เพื่อให้ผู้ป่วยสูงอายุหลังพ้นการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลันแล้ว ได้เตรียมตัวกลับไปใช้ชีวิตต่อที่บ้านได้ลดระยะเวลาการต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานเกินไป และสามารถป้องกันการกลับมาเจ็บป่วยซ้ำ หรือต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำซ้อนอีก

        ผลจากการดำเนินการทำให้เกิดองค์ความรู้เฉพาะทางสำหรับกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย เป็นต้นแบบขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศในอนาคต ตลอดจนเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ในผู้สูงอายุไปยังประชาชนผู้สนใจทั่วไป สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในด้านอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน 

          ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ขนาดพื้นที่ 25  ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลศิริราช 35 กิโลเมตร ณ ถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผนบูรณาการการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เป้าหมายด้าน สภาพแวดล้อม และนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1,800 ล้านบาท 

        การดำเนินโครงการ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ  2562 - 2563  และระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 - 2564  ประกอบด้วย  

        1)  A ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัย  อาคาร 4 ชั้น  

        2)  B อาคารผู้ป่วยนอก  อาคาร 2 ชั้น  

        3)  C ศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ  อาคาร 3 ชั้น  

        4)  D หอผู้ป่วยใน 1 อาคาร 3 ชั้น   (ห้องผู้ป่วยทั่วไป 40 ห้อง ห้องผู้ป่วย Respite 6 ห้อง)

        5)  E หอผู้ป่วยใน 2 อาคาร 3 ชั้น   (ห้องผู้ป่วยทั่วไป 22 ห้อง ห้องผู้ป่วย Dementia 12 ห้อง)

        6)  F หอพักบุคลากร  อาคาร 9 ชั้น (317 เตียง)

        7)  G อาคารสนับสนุน อาคาร 2 ชั้น พื้นที่ 1,815 ตร.ม. (งานครัว งานผ้า)

        8)  H บ่อบำบัดน้ำเสียรวม 

        9)  I อาคารพักขยะ 

        10)  อื่นๆ ได้แก่ ทางเชื่อม งานภายนอกและงานภูมิสถาปัตยกรรม 

      ให้บริการทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก ดังนี้

        ผู้ป่วยใน (IPD)  รับผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป  ที่ส่งต่อจากโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลใกล้เคียง เข้ารับการดูแลในระยะกลาง (Intermediate care) เข้ารับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย เช่น การรักษาตามหลักการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ  การทำกายภาพบำบัด การดูแลทางโภชนบำบัด และอื่น ๆ กรณีที่ผู้ป่วยกลับมามีอาการเฉียบพลันที่คุกคามต่อชีวิต จะส่งกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลต้นสังกัดเดิม นอกจากนั้น ยังมีการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะสั้น (Respite Care) เพื่อให้ญาติและผู้ดูแลมีระยะเวลาพักจากการดูแลผู้ป่วยสูงอายุมานานบ้าง 

        ผู้ป่วยนอก (OPD)  มีการบริการใน 5 ลักษณะ ได้แก่ คลินิกสุขภาพดี คลินิกเฉพาะโรคในกลุ่มอาการสูงอายุ (Geriatric Syndrome) เช่น สมองเสื่อม (Dementia)  ภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน (Delirium) ภาวะหกล้ม (Falling) โรคซึมเศร้า (Depression) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น คลินิก Day Hospital เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยสูงอายุแบบโรงพยาบาลกลางวัน คลินิกแพทย์แผนไทย และแผนก Day Care จะเป็นการจัดกิจกรรมแบบชมรมผู้สูงอายุ มีกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านกายและจิต ทั้งนี้จะไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน กรณีที่มีผู้ป่วยระยะเฉียบพลับจะเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และส่งต่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพรองรับเพื่อรักษาต่อไป

        กล่าวโดยสรุป การดูแลผู้ป่วยแบบ Intermediated Care คือ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุระยะกลางหรือระยะรองเฉียบพลัน (Intermediate Care หรือ Sub-acute Care)  มีดังนี้

        1) เน้นการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ฟื้นไข้จากความเจ็บป่วยเฉียบพลัน มารับการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพด้วยหลักการทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatic Medicine)

        2) เร่งขบวนการการฟื้นไข้ ให้ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพทั้งด้านกาย ด้านพฤติกรรมและอารมณ์ที่ผิดปกติ สามารถกลับบ้านได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

        3) ป้องกันการเข้ารับการการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล และการดูแลในบ้านพักคนชราซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อสังคมและประเทศอย่างมาก

        4) ทำให้โรงพยาบาลหลักสามารถหมุนเวียนเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยระยะเฉียบพลันรายใหม่เข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น

         ดังนั้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อการก้าวสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  จะเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างความรู้ทางวิชาการการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง หรือระยะรองเฉียบพลันให้สามารถกลับบ้านและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะนำไปสู่การเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ และสังคมต่อไปด้วย