ศิริราชร่วมกับองค์กรสาธารณสุขทั่วประเทศรวมพลัง
รณรงค์ฝากครรภ์และพัฒนาระบบดูแลรักษา
ลดการเสียชีวิตทารกแรกเกิด
ศิริราชร่วมกับองค์กรสาธารณสุขทั่วประเทศรวมพลัง
รณรงค์ฝากครรภ์และพัฒนาระบบดูแลรักษา
ลดการเสียชีวิตทารกแรกเกิด
วันนี้ ( 23 เม.ย. 50 ) เวลา 10.00 น. ศ. คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ เป็นประธานในการแถลงข่าว ลดการเสียชีวิตทารก ฝากครรภ์ กันคลอดก่อนกำหนด ร่วมกับ นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทวงสาธารณสุข และ นพ.มาโนชญ์ ลีโทชวลิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2
จากสถิติการตายของทารกในขวบปีแรกของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าทารกทุก 1,000 ราย ของประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูงถึง 18 % รองลงมาคือ มาเลเซีย 10% สหรัฐฯ 6% แคนาดา 5% ญี่ปุ่น 3% และสิงคโปร์ 2%
ในจำนวนนี้สาเหตุการตายอันดับแรกของประเทศไทยคือ โรคหรือความผิดปกติที่พบในทารกระยะปริกำเนิด คือ ทารกซึ่งมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ 7 วันแรกของชีวิต ซึ่งมักจะมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม โอกาสรอดชีวิตของทารกกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับ อายุครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด และความพร้อมของสถานพยาบาล ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการแก่ทารกทั้งประเทศ
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2548 พบว่ามีทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยในประเทศไทย 456,078 ราย ในจำนวนนี้มีการตายหลังคลอดและส่งต่อสถานพยาบาลอื่นภายใน 5 วัน จำนวน 9,879 ราย ซึ่งทารกกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดภาวะขาดออกซิเจนในระยะแรกเกิดสูง และในการดูแลทารกเหล่านี้จะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ของทารกยังทำงานไม่สมบูรณ์ อาทิ เป็นโรคปอดเรื้อรัง ความสามารถในการมองเห็นลดลง เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในกระแสเลือด บางรายเมื่อรอดชีวิตอาจมีสมองพิการ ตาบอด ซึ่งนอกจากมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารกแล้ว ยังส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวและสังคมในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทุกด้าน ที่สำคัญคือ การดูแลระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นจึงต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง รวมทั้งต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีจำนวนจำกัดเฉพาะสถานพยาบาลบางแห่งเท่านั้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทารกกลุ่มนี้นับวันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความสมบูรณ์ของทารกและยังต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยเดือนละ 1 2 ครั้ง เป็นเวลานานประมาณ 4 ปี
สาเหตุของภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดนั้นเกิดจาก 1. การตั้งครรภ์ขณะที่เป็นวัยรุ่นหรืออายุมาก 2. ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด 3. มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด 4. ทำงานหนักโดยเฉพาะยกของหนัก เบ่งมากๆ หรือใช้เวลายืนเดินนานๆ 5. มีความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์แฝด แฝดน้ำ รกเกาะต่ำ 6. มีความผิดปกติของมดลูกและปากมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก ปากมดลูกผิดปกติ 7. มีโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 8. มีการติดเชื้อ เช่น กรวยไตอักเสบ ช่องคลอด ปากมดลูกอักเสบรุนแรง ไส้ติ่งอักเสบ 9. ได้รับการกระทบกระเทือนที่รุนแรง เช่น ถูกกระแทกที่บริเวณหน้าท้อง
ทั้งนี้ โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ นี้ เป็นโครงการที่มีกิจกรรมมุ่งช่วยเหลือและแก้ปัญหาทารกเกิดก่อนกำหนด การดำเนินงานในช่วงแรกได้ร่วมกันจัดนิทรรศการให้ความรู้ใน สัปดาห์เพื่อการรณรงค์และป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด ระหว่างวันที่ 23 29 เมษายน 2550 ณ โรงพยาบาล สถานพยาบาลทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการคาดว่า หญิงตั้งครรภ์จะเห็นความสำคัญและมาฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตนตั้งครรภ์ เพื่อรับการประเมินภาวะสุขภาพและการดูแลรักษาที่เหมาะสมหากตรวจพบความเสี่ยง ขณะเดียวกันจะมีการจัดระบบการดูแลและส่งต่อมารดา-ทารกให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า และเมื่อทารกพ้นระยะวิกฤตแล้ว สามารถส่งทารกกลับไปเลี้ยงดูในโรงพยาบาล ต้นสังกัด และกลับบ้านได้เมื่อมีน้ำหนักตัวประมาณ 1,500 2,000 กรัม นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริการของหน่วยงานตนเอง อาทิ การจัดฝึกอบรม เป็นต้น