
ครั้งแรกของโลก
ศิริราชผ่าแยกแฝดสยามที่มีหัวใจ ตับติดกันได้สำเร็จ
ครั้งแรกของโลก
ศิริราชผ่าแยกแฝดสยามที่มีหัวใจ ตับติดกันได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นประธานในการจัดงานแถลงข่าว ศิริราชประสบความสำเร็จผ่าตัดแยกแฝดสยามที่มีหัวใจและตับติดกัน รอดชีวิตทั้งคู่เป็นครั้งแรกของโลก ร่วมกับ ทีมแพทย์สหสาขาวิชา ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อาทิ ศ.พญ.อังกาบ ปราการรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา รศ.นพ.สมชาย ศรียศชาติ ศัลยแพทย์หัวใจ ผศ.นพ.มนตรี กิจมณี ศัลยแพทย์ตกแต่ง ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง กุมารศัลยแพทย์ และคณะ ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการชั้น 2
ลักษณะของฝาแฝดเกิดได้ 2 กรณี คือ จากไข่มารดา 2 ฟอง สเปิริ์ม 2 ตัวผสมกัน จะให้แฝดหน้าตาไม่เหมือนกัน เรียกว่า แฝดพี่น้อง กับอีกลักษณะเกิดจากไข่ใบเดียว สเปิร์มตัวเดียวผสมกัน แต่เกิดความผิดปกติในช่วงการแบ่งตัว ทำให้แยกเป็นสอง หากแยกสมบูรณ์ก็จะให้แฝดเหมือน 2 คน ที่หน้าตาเหมือนกันทุกประการ เรียกว่า แฝดเหมือน แต่หากแยกไม่สมบูรณ์ก็จะได้แฝดตัวติดกัน ซึ่งในกรณีแฝดตัวติดกันจะพบได้น้อยมาก
ในกรณีแฝดสยามปานวาด-ปานตะวัน เป็นแฝดสยามเพศหญิงคู่ล่าสุดที่คลอดใน รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2549 เวลา 18.37 น. โดยการผ่าคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ทั้งคู่มีน้ำหนักแรกคลอดรวมกันประมาณ 3,570 กรัม มีลำตัวด้านหน้าติดกันตั้งแต่บริเวณทรวงอกลงมาถึงผนังหน้าท้อง ซึ่งจากการตรวจโดยละเอียดพบว่า มีตับติดกันเป็นบริเวณกว้างและยังมีหัวใจเชื่อมต่อกันด้วย หลังคลอดทารกทั้งคู่ได้รับการดูแลรักษาใน รพ.ศิริราชเป็นอย่างดี
จากความผิดปกติดังกล่าว ทีมแพทย์จึงตัดสินใจผ่าตัดแยกร่างเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ในขณะที่ทารกทั้งคู่อายุได้ 8 เดือน น้ำหนักตัวรวมกัน 10.9 กิโลกรัม ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง หลังผ่าตัดทารกทั้งคู่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้อง ICU ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็หายใจเองได้ เริ่มฟื้นตัว กลับมาเป็นเด็กปกติ 2 คน ที่แยกร่างกายจากกัน ขณะนี้เป็นเวลาประมาณ 7 สัปดาห์หลังผ่าตัด ทารกทั้งคู่แข็งแรงดี ซึ่งปัจจุบันปานตะวันมีน้ำหนักตะวัน 5,735 กรัม ปานวาด 4,900 กรัม และอยู่ในขั้นการฝึกพัฒนาการบางอย่างที่ช้าไปในช่วงที่ลำตัวติดกันต่อไป