ครั้งแรกในประเทศไทย ศิริราช จับมือ NECTEC
ลงนามร่วมกันพัฒนาและทดสอบต้นแบบอุปกรณ์ช่วยสื่อสาร
ช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านภาษาและการพูด
ครั้งแรกในประเทศไทย ศิริราช จับมือ NECTEC
ลงนามร่วมกันพัฒนาและทดสอบต้นแบบอุปกรณ์ช่วยสื่อสาร
ช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านภาษาและการพูด
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 50 ที่ผ่านมา เวลา 09.30 น. ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( NECTEC) ร่วมลงนามพัฒนาและทดสอบต้นแบบอุปกรณ์ช่วยสื่อสาร ช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านภาษาและการพูด ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักอรรถบำบัดหรือนักแก้ไขการพูดอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 50 คน ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่ทำงานอยู่ตามโรงพยาบาลของรัฐ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาการสื่อสารกลับมีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ เด็กสมองพิการแต่กำเนิด เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ หรือผู้มีปัญหาหูหนวก หูตึง เหตุนี้จึงทำให้ปัญหาการดูแลรักษาที่ให้บริการไม่ทั่วถึงกลับเพิ่มขยายกว้างขึ้น
ด้วยเหตุนี้ NECTEC ซึ่งมีองค์ความรู้ทางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยในการสื่อสารจึงสนใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยมองเห็นว่าศิริราชมีศักยภาพในการรักษา ฝึก แก้ไข และฟื้นฟูสมรรถภาพของการสื่อสารอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยในเบื้องต้นทาง NECTEC ได้พัฒนาโปรแกรมและอุปกรณ์ช่วยสื่อสารไว้ 3 โปรแกรมคือ 1. การประเมินเสียงพูดและทดสอบคุณภาพเสียงพูดภาษาไทย 2. แบบฝึกหัดฝึกควบคุมคุณภาพเสียงพูดและภาษา และ 3. อุปกรณ์ช่วยสื่อสารในห้องไอซียูในระหว่างพักฟื้น ซึ่งทั้ง 3 โปรแกรม ทางนักอรรถบำบัดจะประเมินปัญหาและความสามารถของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อวางแผนการรักษา ตลอดจนจัดทำแบบฝึกหัดแก้ไขปัญหา และมีการประเมินซ้ำหลังจากให้การรักษาเพื่อดูความก้าวหน้าของผู้ป่วย คาดว่าโปรแกรมนี้จะเพิ่มโอกาสในการรักษาแก่ผู้ป่วย ทั้งสะดวกและง่ายต่อการเรียนรู้ที่จะใช้ โดยสามารถทำได้บ่อยครั้ง และยังสามารถเก็บข้อมูลแต่ละครั้งเพื่อนำมาวางแผนการรักษาในครั้งต่อๆไป ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายได้เร็วขึ้นในโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ และช่วยให้สามารถสื่อสารกับสังคมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้พิการเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตาม และในอนาคตทั้งสองหน่วยงานตั้งใจจะขยายองค์ความรู้โดยฝึกอบรมนักอรรถบำบัด ครอบครัวและผู้ป่วยให้สามารถใช้โปรแกรมดังกล่าวได้เอง ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ได้อีกทาง และยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะฯ ที่จะส่งเสริมสุขภาพและสร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวและผู้ป่วยให้สามารถดูแลตนเองได้
---------------------------------------------------------------