โรคฟันผุ

โรคฟันผุ

ทพญ.โฉมไฉไล เอกจิตต์
งานทันตกรรม   โรงพยาบาลศิริราช

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           การเกิดโรคฟันผุ มาจากปัจจัย 4 ประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ แผ่นคราบจุลินทรีย์ อาหารประเภทแป้งน้ำตาล ตัวฟัน และเวลา โดยแบคทีเรียที่มีอยู่ตามปกติในช่องปากจะทำปฏิกิริยากับคราบ (Plaque) ที่ติดค้างอยู่ตามซอกฟัน และผิวเคลือบฟัน  ซึ่งเราขจัดออกไปได้ไม่หมด  เกิดเป็นกรดขึ้น  ซึ่งกรดสามารถทำลายผิวเคลือบฟัน ก่อให้เกิดโรคฟันผุขึ้นได้หาก pH ในปากมีค่าต่ำกว่า 5.5 บ่อย ๆ และเป็นเวลานาน

อาการ
           การผุของฟัน จะเริ่มขึ้นที่ชั้นผิวเคลือบฟันก่อน โดยจะเห็นเป็นจุดดำเล็ก ๆ หรือเป็นเส้นดำตามร่องฟันด้านบดเคี้ยว  หรือเนื้อฟันมีสีขาวขุ่นผิดปกติ  ระยะนี้มักไม่พบอาการเสียวฟันหรือปวดฟันแต่อย่างใด  ซึ่งการทำความสะอาดฟันที่ดี สามารถชลอการลุกลามของโรคฟันผุได้  แต่หากเราปล่อยไว้ไม่ดูแล ฟันผุลุกลามไปถึงขั้นเนื้อฟัน จะมีอาการเสียวฟันเมื่อเคี้ยวอาหาร หรือเมื่อกระทบของเย็น บางครั้งอาจมีอาการปวดได้ แต่หากเรายังปล่อยทิ้งไว้จนฟันผุลุกลามไปถึงขั้นโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาท จะทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับก็มี แม้ได้รับยาแก้ปวด บางครั้งก็อาจไม่ทุเลาอาการปวดได้  แลถ้าผุลุกลามมากอาจทำให้รากฟันอักเสบและเป็นหนอง เงือกบวม หรือแก้มบวมได้ ซึ่งระยะนี้ไม่สามารถอุดฟันด้วยวิธีปกติทั่วไปได้  ต้องรักษาครองรากฟัน ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลารักษานาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย บางครั้งอาจต้องสูญเสียฟัน เนื่องจากผุลุกลามมาก ไม่สามารถเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้  ซึ่งจะมีผลกระทบด้านการบดเคี้ยวจะมีประสิทธิภาพลดลง และต้องใช้ฟันเทียม ซึ่งมีค้าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

การป้องกัน
           โรคฟันผุ เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาและป้องกันได้โดยวิธีการกินยา เมื่อมีฟันผุก็ต้องรักษาด้วยการอุดฟัน หรือถอนฟันเท่านั้น  ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคฟันผุเรามีวิธีปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ ดังนี้
    
           1. รักษาสุขภาพอนามัยช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ควรแหรงฟันหลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง  หรือถ้าทำได้ไม่สะดวก ก็ใช้วิธีบ้วนน้ำแรง ๆ หลาย ๆ ครั้ง

           2. รับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อฟัน เช่น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่ส่งเสริมให้ฟันผุได้ง่าย

           3. ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก ๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง

           4. ใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และทำให้ฟันแข็งแรง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ร่วมกับการรับประทานยาน้ำ/ยาเม็ดฟลูออไรด์ (ในเด็ก) การอมน้ำยาฟลูออไรด์ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้





   
      

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด