ภาวะเสี่ยงต่อกระดูกพรุน

ภาวะเสี่ยงต่อกระดูกพรุน

 

อ.นพ.อาศิส  อุนนะนันทน์
ภาควิชา
ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


โรคกระดูกพรุน จัดเป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องเผชิญในอนาคต เพราะเมื่ออายุ 30 ปี ขึ้นไป กระดูกจะเริ่มมีการสลายมากกว่าการสร้าง ทำให้เนื้อกระดูกลดลง และเกิดภาวะกระดูกพรุนได้      

โรคกระดูกพรุน  เกิดจากการลดลงของปริมาณกระดูกในร่างกายร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก เป็นผลให้ความแข็งแรงของกระดูกโดยรวมลดลง  และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ 

 โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่ พบในผู้สูงอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป และเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงจะมีการลดลงของเนื้อกระดูกอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือน นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนยังพบได้ในภาวะผู้ป่วยที่ได้รับการตัดรังไข่ 2 ข้าง   ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารที่มีความผิดปกติในการดูดซึมสารแคลเซียม  ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น สารสเตียรอยด์ หรือยากันชัก  รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรครูมาตอยด์ หรือตับอักเสบเรื้อรังก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะไม่มีอาการใด ๆ  จนกว่าจะมีอาการแสดงซึ่งได้แก่กระดูกหัก  ตำแหน่งที่พบบ่อยในโรคกระดูกพรุน ได้แก่ บริเวณข้อมือ ข้อสะโพก หรือกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น อาการปวดหลังเรื้อรัง รูปร่างผิดปกติ เสียสมดุลการเดิน  และการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้องและทรวงอกผิดปกติ

โรคกระดูกพรุนวินิจฉัยได้จากการตรวจค่าความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมือ DEXA  นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติอื่น ๆ  เช่น การขาดวิตามินดี และสามารถตรวจประเมินอัตราการสร้างและสลายของกระดูกได้ การตรวจเพิ่มเติมนี้ เพื่อใช้ในการตัดสินใจวางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป 

สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยยาในปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ยากลุ่มที่ลดอัตราการสลายกระดูก และยากลุ่มที่เสริมสร้างมวลกระดูก ทั้งนี้การใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนควรจะอยู่ภายใต้คำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์ เนื่องจากยาแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน  ฉะนั้น การป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด  โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ได้แก่  นม  โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก รวมถึงการรับวิตามินดีจากแสงแดด  และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 15-20 นาที ทุกวัน จะช่วยได้ครับ


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด