ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ด

ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ด

 ผศ.นพ.พิชัย  ลีระศิริ

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

มีสตรีจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากอาการไอ จาม และมีปัสสาวะเล็ด หลายคนไม่กล้าที่จะพูดถึงเพราะอาย จะหายจากอาการอย่างนี้ได้อย่างไร เรามีความรู้มาฝากค่ะ

             ภาวะไอ จาม และปัสสาวะเล็ดโดยไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุมได้นั้น เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วไปและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต  สาเหตุมาจากกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

- อายุ ในสตรีที่อายุมากขึ้นจะพบอุบัติการณ์ของภาวะนี้ได้มากขึ้น

- การตั้งครรภ์ ในขณะตั้งครรภ์จะพบภาวะปัสสาวะเล็ดได้ในบางราย แต่เป็นการเกิดชั่วคราว

และอาจจะหายได้หลังจากคลอดบุตรแล้ว

- การคลอดบุตร  มักพบในรายที่ทารกคลอดผ่านช่องคลอดและสัมพันธ์กับระยะเวลาคลอด

โดยเฉพาะถ้าทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดมาก  

- จำนวนบุตรที่มากขึ้น  จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นตามลำดับ    

- ภาวะที่เพิ่มความดันในช่องท้อง  ได้แก่ ความอ้วน   ไอ จาม หอบเรื้อรัง  ท้องผูก  ยกของ

หนักเป็นประจำ

             ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัย โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายหรือตรวจภายในหรือส่งตรวจพิเศษเพื่อยืนยันว่ามีภาวะนี้จริงแล้วจึงทำการรักษา  ซึ่งการรักษามีตั้งแต่

1. การปรับพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนักรักษาอาการไอ  จามเรื้อรัง  แก้ไขภาวะท้องผูก

2. โดยการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน  ด้วยการขมิบช่องคลอด  ซึ่งสามารถทำได้ในทุก

อริยาบถ โดยการขมิบที่ถูกต้องต้องขมิบเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเท่านั้น  คล้ายกับเวลากลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ โดยไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องหรือต้นขาร่วมด้วย ขมิบแต่ละครั้งทำค้างไว้ 10 - 20 วินาที แล้วคลายออกในเวลาเท่ากัน แล้วจึงเริ่มขมิบใหม่  สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ  โดยระยะแรกอาจทำเพียงน้อยครั้งแล้วจึงเพิ่มขึ้นทั้งระยะเวลาและความถี่เมื่อชำนาญมากขึ้น    อย่างไรก็ตามหากท่านไม่แน่ใจว่าจะขมิบได้ถูกต้องหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ได้ 

3. การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้หดรัดตัว ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่

สามารถเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยตนเองได้หรือทำได้ไม่ถูกวิธี  วิธีนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ

ซึ่งการรักษาทั้ง 3  วิธี  เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 3 - 6 เดือน แต่ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น  ต้องใช้การผ่าตัด เข้าช่วย  ซึ่งมีอยู่  2 วิธีด้วยกัน 

                        1.  การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง โดยการเย็บซ่อมแซมและตึงเนื้อเยื่อรอบท่อปัสสาวะเข้าเอ็นที่ยึดบริเวณใกล้เคียงให้มีความแข็งแรงขึ้น

                        2.  โดยใช้วัสดุเทปสังเคราะห์ผ่านทางช่องคลอด  แล้ววางที่ใต้ต่อท่อปัสสาวะเพื่อเสริมความแข็งแรง  วิธีนี้ได้รับความนิยมในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการผ่าตัดทางหน้าท้อง  เนื่องจากทำได้รวดเร็ว สะดวก ฟื้นตัวเร็ว และยังไม่มีแผลหน้าท้อง

                แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด อย่ากลัวอย่าอาย  หมอช่วยได้ครับ


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด