โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
อ.นพ.พิทยา ภมรเวชวรรณ
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ดวงตา โรคตาบางโรคจะพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจตาสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้งเพื่อหาความผิดปกติ เนื่องจากถ้าตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็ว ผลการรักษามักได้ผลดี โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุได้แก่
ต้อกระจก
พบได้ทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น เกิดจากเลนส์แก้วตาภายในดวงตาขุ่นทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุ การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตบ่อย ๆ หรือแสงแดดจ้า โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
อาการ ตามัวลง อาจเริ่มจากต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ ต่อมามัวลงมากปรับแว่นอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง บางคนอาจมองเห็นแสงกระจายในที่สว่างจ้า
การรักษาและป้องกัน ต้อกระจกบางส่วนสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดได้ แต่เมื่อเป็นต้อกระจกแล้ว ไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานที่จะช่วยสลายต้อกระจกได้ การรักษาต้องทำการผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งในปัจจุบันใช้คลื่นเสียงความถี่สูง(อัลตราซาวนด์)สลายต้อกระจก ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ผู้ป่วยมักจะกลับมามองเห็นเป็นปกติถ้าไม่มีโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ตามัว
ต้อหิน
เป็นสาเหตุตาบอดถาวรที่สำคัญ เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดต้อหินเพิ่มขึ้นตามวัย ต้อหินเป็นโรคของเส้นประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสประสาทจากลูกตาไปยังสมอง ทำให้สามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ โดยมี
ปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความดันตาสูง กดทำลายเส้นประสาทตา ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน อายุ 40 ปีขึ้นไป การใช้ยาสเตียรอยด์ ได้รับอุบัติเหตุหรือผ่าตัดตามาก่อน
อาการ โดยทั่วไปช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ ต่อมาจะสูญเสียการมองเห็นจากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อย ๆ และตาบอดในที่สุด อาจมีต้อหินบางประเภท เช่นต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีอาการปวดมาก เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มัวลงมาก และตาแดง ซึ่งเป็นอาการเร่งด่วนที่ต้องรีบมาพบแพทย์
การรักษา การรักษาต้อหินส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยยาลดความดันตา หรือการยิงเลเซอร์โดยผู้ป่วยจะต้องมาตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ ถ้ารักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดต่อไป ปัจจุบันไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนมาเท่าคนปกติ แต่สามารถชะลอไม่ให้โรคแย่ลงได้
จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม
เกิดจากภาวะเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดที่อยู่บริเวณส่วนกลางของจอตา ซึ่งจุดนี้ใช้รับรู้รายละเอียดและสีของภาพ ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่ยังเห็นบริเวณรอบข้างของภาพได้เป็นปกติ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการสะสมของอนุมูลอิสระ และของเสียจากการทำงานที่ไม่สมบูรณ์ของเซลล์รับแสง เซลล์เม็ดสีใต้จอตา และหลอดเลือดในบริเวณจุดรับภาพชัด ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ที่จุดภาพชัด
ปัจจัยเสี่ยง ปัจจุบันพบว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนร่วมในการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคคือ ภาวะสูงอายุ แสงอัลตราไวโอเลตหรือแสงอาทิตย์ การสูบบุหรี่ และความดันโลหิตสูง
อาการ ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด
การรักษาและป้องกัน ผู้ป่วยต้องมีความรู้และเข้าใจในโรคนี้ รับประทานยาต้านอนุมูลอิสระตามข้อบ่งชี้เพื่อชะลอการดำเนินโรคและลดโอกาสเกิดหลอดเลือดผิดปกติ ในกรณีที่มีหลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว จะมีการรักษาหลายวิธี ได้แก่ ฉีดยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดหลอดเลือดเข้าในวุ้นตา การใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำและสารไวแสง การใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูง บางกรณีอาจพิจารณาใช้การผ่าตัดวุ้นตาและจอตาร่วมด้วย การรักษาและติดตามผลต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ในด้านการป้องกัน ผู้สูงอายุควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี เมื่อมีการมองเห็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวควรรีบมาพบจักษุแพทย์ ควรทดสอบการมองเห็นเป็นประจำด้วยตารางตรวจจุดภาพชัด หรือมองสิ่งที่เป็นเส้นตรง เช่น กรอบประตู หน้าต่าง ถ้าพบความผิดปกติควรรีบมาพบจักษุแพทย์ หยุดสูบบุหรี่ และสวมแว่นกันแดด
ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกายรวมทั้งหลอดเลือดที่จอตา ทำให้เลือดและสารต่าง ๆ รั่วซึมออกจากหลอดเลือดที่ผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต ภาวะซีด
อาการ ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา หากมีอาการตามัวแสดงว่าเบาหวานขึ้นจอตาเป็นมากแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ หากพบว่ามีเบาหวานขึ้นจอตาแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาต่อไป
การรักษาและป้องกัน โดยการรักษามุ่งหวังไม่ให้โรคลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติรวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอย่างเหมาะสม สามารถชะลอความรุนแรงของโรคได้ ในปัจจุบันการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตามี 3 วิธี คือ การรักษาด้วยเลเซอร์ การรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค
ภาวะนี้สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเครื่องมือการตรวจและรักษาที่มีในปัจจุบัน ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง หากแพทย์ตรวจพบเบาหวานขึ้นจอตา แพทย์จะนัดตรวจติดตามต่อเนื่องหรือพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมตามระยะโรคที่ตรวจพบ นอกจากนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้