มองสมุนไพร กับ การรักษามะเร็งแบบวิทยาศาสตร์

มองสมุนไพร กับ การรักษามะเร็งแบบวิทยาศาสตร์

รศ.นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            เวลามีคนพูดถึงการรักษามะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งอะไรก็ตาม ความรู้สึกแรกคือ การแพทย์แผนปัจจุบันที่รู้จักกันอยู่ รักษาไม่หาย และ ตามมาด้วยความรู้สึกอย่างที่ 2 คือ มีทางเลือกอื่นไหมที่จะช่วยให้รักษามะเร็งให้หาย โดยเฉพาะที่ได้ยินกันบ่อยๆ และ หนาหูคือ สมุนไพร และ อาหาร

 

สมุนไพร สามารถรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่

            สมุนไพร สามารถรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่มักจะถูกถาม ซึ่ง ในความเป็นจริงนั้น ยารักษามะเร็งหลายชนิด มีต้นตอของสารสำคัญมาจากสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม ที่เรารู้จักกัน เช่น ยา vincristine และ vinblastine เป็นยาที่มีสารตั้งต้นจากต้น พังพวย(Catharanthus roseus) มีการใช้ในการรักษามะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, ยา taxol มีสารตั้งต้นจากเปลือกของต้น Taxus cuspidata (东北红豆杉)  ซึ่งใช้รักษามะเร็งเต้านม, ยา topotecan และ irinotecan มีสารตั้งต้นจาก ต้น Camptotheca acuminate ซึ่งใช้รักษามะเร็งรังไข่และมะเร็งลำไส้ ฯลฯ

            ข้อแตกต่างของสมุนไพร ในความเข้าใจของคนทั่วไป กับยาเคมีบำบัดที่สกัดจากสมุนไพร ก็คือ สมุนไพร ที่ใช้กันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรเดี่ยว หรือ สมุนไพรหลายตัวที่อยู่ในตำรับยา จะมีส่วนประกอบทางเคมีของสารหลายอย่าง ที่ไม่สามารถบอกได้ว่า สารตัวใดที่มีผลต่อมะเร็งโดยตรง และ อยู่ในความเข้มข้นที่ไม่มีตัวควบคุม ทำให้ไม่ทราบประสิทธิภาพ หรือ พิษ ที่ชัดเจน ขณะที่สมุนไพรที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นยา จะรู้ส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ และ กลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน อีกทั้งทราบถึงขนาดของยาที่อาจเป็นอันตราย และ ทราบประสิทธิภาพของยา ซึ่งได้ผ่านการศึกษาตามขั้นตอนทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และ ในคน จึงทำให้ทราบถึงวิธีการใช้ และ ข้อบ่งชี้อย่างชัดเจน

ประสิทธิภาพของสมุนไพรในการรักษามะเร็ง

            การใช้สมุนไพรในการรักษามะเร็งนั้น มีข้อมูลที่อาจจะสืบค้นได้จากเอกสารต่างๆ มากมาย แต่การใช้นั้น มักจะเป็นการบอกเล่า บอกสรรพคุณ ว่ารักษามะเร็งได้หลายอย่าง โดยที่ไม่มีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน อีกทั้งการกล่าวอ้าง จะมีการปนกันระหว่าง การรักษามะเร็งกับ การกินเพื่อป้องกันมะเร็ง หรือ ในบางครั้ง จะบอกว่า กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้มะเร็งได้ หรือ ใช้เพื่อลดอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็ง

            ในบรรดาคำกล่าวอ้างถึง ประสิทธิภาพของยาสมุนไพรขนานต่างๆ นั้น หากจะมีการยกข้อมูลเพื่อสนับสนุน ก็มักจะเป็นข้อมูลการศึกษาที่กระทำในสัตว์ทดลอง หรือ คน กลุ่มเล็กๆ อาจจะไม่ถึง 100 คน และการทดลองหเหล่านั้น ก็มักจะบอกว่ากินแล้วไม่มีอันตราย ส่วนการทดลองว่าได้ผลกับเซลล์มะเร็งในบางการศึกษา ก็เป็นข้อมูลที่ศึกษาในแนวทางเดียวกับการพัฒนายาเคมีบำบัด แต่ข้อมูลยังไม่ดีพอที่จะนำมาใช้ในคน แต่ถูกนำมาอ้าง เพื่อใช้ในคนก่อนที่การศึกษาจะมีผลที่น่าเชื่อถือสมบูรณ์ คำกล่าวอ้างที่พบได้บ่อยมากที่สุดถึง ความดีของสมุนไพร ก็คือ คนที่ป่วยเป็นมะเร็ง ชนิดนั้นชนิดนี้ คนนั้น คนนี้ กินยาสมุนไพรดังกล่าวแล้ว มีชีวิตรอดมาอีก หลายๆ ปี ซึ่งในกรณีต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้บอกเลยว่า ผู้ป่วยรายนั้น ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี หรือ เคมีบำบัดมาก่อน หรือ ร่วมด้วยหรือเปล่า และ ถ้ามี ผลที่หายมีชีวิตรอดมาอีกหลายปี เป็นผลของการรักษาอื่นๆ หรือ เป็นผลของสมุนไพร ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบในการศึกษาว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใดบ้าง ที่กินสมุนไพรอย่างเดียว หรือ กินสมุนไพรร่วมกับการรักษาอื่น ที่โรคเป็นมากขึ้น  และ เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง  ด้วยลักษณะการนำเสนอข้อมูลอย่างนี้ ที่มีอยู่ในสื่อทั่วๆ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจผิด ถึงสรรพคุณของสมุนไพรเกินจริง

กินสมุนไพรรักษามะเร็ง มีข้อเสียหรือไม่

            บางคนบอกว่า ถึงจะไม่รู้ว่าได้ผลหรือไม่ แต่ด้วยเป็นสมุนไพร การกินเข้าไป ก็ไม่น่าจะมีข้อเสียไม่ใช่หรือ ถ้าค่ายาไม่แพงนัก และ/หรือ มีปัญญาจ่ายค่ายา

            ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น การใช้ยาสมุนไพร ในการรักษามะเร็งอาจเกิดข้อเสียได้เช่นกัน อันดับแรก คือ พิษของยา การใช้สมุนไพรส่วนหนึ่งถูกใช้โดยไม่ทราบขนาดของยา เพราะสารออกฤทธิ์ของสมุนไพรแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน บางขนิดอยู่ที่ใบ บางชนิดอยู่ที่ราก บางชนิดอยู่ที่ดอก แต่การใช้สมุนไพรบ้านเรามักจะเอามารวมรวมกัน บด อัดเป็นเม็ด หรือ แคลซูล และ กินโดยไม่ทราบปริมาณที่เหมาะสม ทำให้อาจจะได้สารพิษที่ปนมา เป็นเหตุให้ ตับ ไต หรือ หัวใจเสื่อมลง

            อันดับที่ 2 ข้อเสียอาจจะเกิดจากการที่มารับการรักษาด้วยสมุนไพร และ หยุด หรือ ละเลยการรักษาแผนปัจจุบันที่รู้ว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด ทำให้เปิดโอกาสให้โรคมะเร็ง โตขึ้น โอกาสลุกลามมากขึ้น โอกาสรักษาได้น้อยลง

            อันดับที่ 3 คือ อาจจะมีผลกระทบต่อกัน กับการรักษาอื่นๆ ในแผนปัจจุบัน เช่น ทำให้เม็ดเลือดต่ำลง ติดเชื้อง่ายขึ้น เลือดออกง่ายขึ้น มีผลข้างเคียงของยามากขึ้น ผลการักษาลดลง จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งผลกระทบนี้ จะพบได้บ่อยหากแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยไม่ทราบว่ามีการใช้ยาสมุนไพรอยู่

 

สมุนไพรมีความหวังสำหรับรักษามะเร็งหรือไม่

            สมุนไพรเป็นความหวังสำหรับการรักษามะเร็งแน่นอน เพราะประวัติการรักษามะเร็งที่ผ่านมา ก็พบว่าได้ประโยชน์จากสมุนไพรนานาชนิด เพียงแต่การใช้สมุนไพร ควรได้รับการใช้อย่างผู้รู้ อย่างมีหลักการ และ อย่างมีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง และ ทำให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์

            ในฐานะแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาผู้ป่วยมะเร็ง มีความหวังว่า ผู้ที่อวดอ้างสรรพคุณของสมุนไพรทั้งหลาย จะยินดีมาร่วมกันทำการศึกษาที่มีการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพ และ ข้อเสียของ สมุนไพรชนิดต่างๆ เป็นการศึกษาร่วมกัน เพื่อให้สังคมได้ทราบว่า สมุนไพรของไทย ตัวใดบ้างที่จะเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่ที่ผ่านมา ไม่มีใครเลยที่ใช้สมุนไพรในการหาเลี้ยงชีพอยู่ ยินดีที่จะร่วมทำการศึกษาร่วมกัน

 

มองสมุนไพรกับมะเร็งอย่างมีสติ

            สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ป่วยมะเร็ง และ ญาติ มองการใช้สมุนไพรอย่างมีสติ เพราะตลาดสมุนไพรเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล และมีแผนการทางการตลาดที่แยบยล เหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง ท่านอย่าตกเป็นเหยื่อ โดยนำตัวเองไปเสี่ยงกับสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด