ผื่นแดงที่หน้า (Red face Syndrome)
คนินิกผื่นแพ้สัมผัส
ภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผื่นแดงที่หน้า
Red face syndrome หรือ ผื่นแดงที่หน้า มีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็กๆคล้ายผดบริเวณใบหน้า อาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้ เวลาลูบจะรู้สึกสากที่ผิวหน้า อาจมีอาการแสบคัน ระคายเคือง ไวต่อแสงแดดและเหงื่อ
ผื่นแดงที่หน้าเป็นปัญหาที่พบบ่อยในปัจจุบัน ส่วนมากพบในผู้หญิง เนื่องจากผิวหนังบริเวณใบหน้า เป็นบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสสารต่างๆ หลายชนิด รวมทั้งในปัจจุบันมีการใช้ผลิตภัณฑ์และเครื่องสำอางที่ใช้กับใบหน้ามากขึ้น ทำให้พบผื่นแดงที่หน้าได้บ่อย และเป็นปัญหาในการวินิจฉัยและรักษาในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุของผื่นแดงที่หน้านั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุที่สำคัญ คือ
1. ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis)
ลักษณะเป็นผื่นแดงคัน มีขุยสีเหลืองเป็นมัน มักพบบริเวณข้างจมูก คิ้ว ใบหู และหนังศีรษะมีรังแค
2. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผิวแห้ง มีผื่นแดงคัน บริเวณหน้า คอ ข้อพับของแขนและขา พบในผู้ป่วยที่มีประวัติกรรมพันธุ์เป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ คันตา หอบหืด เป็นต้น
3. ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)
เกิดมีผื่นแดง ผิวหน้าคันอักเสบบริเวณที่สัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น เครื่องสำอาง ส่วนมากมักเกิดอาการหลังใช้เครื่องสำอางหรือสารที่แพ้ ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน
4. ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
เกิดขึ้นกับคนที่สัมผัสสารมีฤทธิ์ก่อระคายปริมาณมากและระยะเวลานานพอ พบผื่นแดงอักเสบที่มีขอบเขตชัดเจนในบริเวณที่มีการสัมผัส ซึ่งจะมีอาการบวม แดง ร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบเป็นกรดวิตามินเอ กรดผลไม้ หรือสารที่มีฤทธิ์ลอกผิวต่อเนื่องเวลานาน
5. ผื่นสัมผัสจากสารร่วมกับแสง (Photocontact dermatitis)
มีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ครีมกันแดด น้ำหอม ร่วมกับโดนแสงแดด ซึ่งจะพบผื่นอักเสบได้บริเวณที่ได้รับแสงนอกร่มผ้า เช่น ใบหน้า หน้าอก แขน
6. ผื่นผิวหนังอักเสบรอบปาก (Perioral dermatitis)
มีลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือ ตุ่มหนอง พบบ่อยรอบริมฝีปาก
7. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิด Rosacea
พบมากในคนผิวขาว จะมีอาการหน้าแดง ตุ่มแดงอักเสบ ตุ่มหนอง หลอดเลือดฝอยขยายที่บริเวณใบหน้า มักมีประวัติว่าเป็นผื่นมากขึ้นเมื่อโดนความร้อน แสงแดด มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
8. สิว (Acne)
ผู้ที่เป็นสิวมักมีผิวมัน พบสิวบนใบหน้าได้หลายรูปแบบ เช่น ตุ่มแดงอักเสบ ตุ่มหนอง ถุงใต้ผิวหนัง หรือพบเป็นสิวหัวเปิดมีจุดดำตรงกลาง
9. ผิวหนังบางและหลอดเลือดฝอยขยายจากยาคอร์ติโค สเตียรอยด์ (Corticosteroid atrophy and telangiectasia)
เป็นผลข้างเคียงจากการทายาหรือกินยาที่มีส่วนประกอบของคอร์ติโคสตีรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน พบในผู้ที่ใช้ยานี้นอกการควบคุมของแพทย์
จะเห็นได้ว่าอาการผื่นแดงที่หน้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นเพื่อให้ได้การวินิฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง จำเป็นต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และบางครั้งอาจต้องทำทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง โดยวิธีปิดสารทดสอบบนผิวหนัง (Patch test) เพื่อพิสูจน์ว่าผื่นแดงที่หน้าเกิดจากผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือผื่นแพ้สัมผัส
ประโยชน์ของการทำทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง คือ หากตรวจพบสารที่แพ้ จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันการสัมผัสสารที่แพ้ได้
สารก่อภูมิแพ้ผิวหนังที่เป็นต้นเหตุของผื่นแดงที่หน้าที่พบบ่อย ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับใบหน้า เช่น เครื่องสำอาง สบู่ล้างหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า ซึ่งส่วนประกอบที่มักเป็นสาเหตุของผื่นแพ้สัมผัส ได้แก่ สารกันเสีย น้ำหอม สารลาโนลิน (Lanolin) สารที่ทำให้เกิดฟอง (Cocamidopropyl betaine) เป็นต้น
- แชมพูสระผมและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้กับเส้นผม
- โลหะและแผ่นยางที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง เช่น โลหะในถาดแป้ง ขอบแปรงที่ทาตาและปาก แผ่นยางที่ใช้เป็นพัฟทาหน้า
- สารที่มาจากผื่นแพ้สัมผัสบริเวณมือ เช่น โลหะนิเกิล ทอง สารในยาทาเล็บ เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้มีผื่นแดงที่หน้า คือ
1. หยุดใช้เครื่องสำอางและสารที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุทันที เพราะการใช้สารที่แพ้ต่อไปจะทำให้มีผื่นที่หน้ามากขึ้น
2. ไม่ควรซื้อยามาทาเอง ควรมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
3. พบแพทย์เพื่อทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง โดยวิธีปิดสารทดสอบบนผิวหนัง (Patch test) โดยชุดทดสอบเครื่องสำอาง (Cosmetic series) พร้อมกับนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าทำให้เกิดผื่นแดงที่หน้ามาร่วมทดสอบด้วย
หากท่านมีผื่นแดงที่หน้า ต้องการปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง หรือต้องการทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง โดยวิธีปิดสารทดสอบบนผิวหนัง (Patch test)
โปรดติดต่อ นัดหมายล่วงหน้าได้ที่โทรศัพท์ 02-4197380-1 ระหว่างเวลา 13.00-15.00 น. เพื่อมารับการตรวจ ณ คลินิกผื่นแพ้สัมผัส ภาควิชาตจวิทยา โรงพยาบาลศิริราช หรือ ID Line: @wes2561m
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www2.si.mahidol.ac.th/km/cop/clinical/derma/7891/