คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เพื่อการดูแลตนเองต่อเนื่องที่บ้าน

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
 เพื่อการดูแลตนเองต่อเนื่องที่บ้าน

 

ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์
สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


การดูแลแผลและผิวหนัง  ควรปฏิบัติดังนี้

1. รักษาความสะอาดของแผลและผิวหนัง   การอาบน้ำควรใช้สบู่ฟอกผิวหนังทั่วๆไป และผิวหนังส่วนที่เป็นแผล รวมทั้งผิวหนังส่วนที่แผลหายแล้วให้สะอาด หลังฟอกสบู่ให้ล้างออกด้วยน้ำจนหมดคราบสบู่ ขณะอาบน้ำไม่ควรถูแผลแรงมาก เพราะจะทำให้แผลและผิวหนังที่งอกขึ้นมาใหม่ชอกช้ำได้
2. ดูแลผิวหนังหลังอาบน้ำ ดังนี้
            2.1 ซับผิวหนังให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาด
            2.2 ทาบาดแผลด้วยครีม โลชั่น หรือน้ำมันบริเวณผิวหนังที่งอกขึ้นใหม่ เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
3. เมื่อมีอาการคันบริเวณผิวหนังที่แผลหายแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้
            3.1 อาคารคัน มักเกิดจากการที่ผิวหนังแห้ง จึงควรป้องกันด้วยการทาครีม โลชั่นหรือน้ำมัน ภายหลังจากการอาบน้ำและก่อนนอน เมื่อผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น อาการคันจะลดลง
            3.2 ห้ามเกาหรือถูบริเวณผิวหนังที่มีอาการคัน เพราะการเกาหรือถูบริเวณผิวหนังที่มีอาการคันจะทำให้เกิดอาการคันมากขึ้น และทำให้ผิวหนังถลอกเป็นแผล และเกิดการติดเชื้อได้
            3.3 รับประทานยาแก้คันตามที่ได้รับไปจากโรงพยาบาล จะสามารถลดอาการคันได้ ห้ามใช้ยาหม่องหรือครีมผสมเมนทอลต่างๆทาแผลหรือผิวหนังเพื่อลดอาการคัน เพราะจะทำให้ผิวหนังแสบ บอบช้ำและเกิดอาการแพ้ได้
4. ผิวหนังที่งอกขึ้นมาใหม่จะมีลักษณะค่อนข้างบอบบาง เกิดอาการชอกช้ำได้ง่าย จึงควรป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกหรือเสียดสี โดยควรปฏิบัติดังนี้
            4.1 สวมเสื้อผ้าปกคลุมบริเวณผิวหนังส่วนที่งอกใหม่
            4.2 ไม่เกาหรือถูผิวหนังที่งอกขึ้นมาใหม่
            4.3 ถ้าเลือกชนิดของเนื้อผ้าได้ ควรเลือกเสื้อผ้าที่เป็นผ้าเนื้อนุ่มหรือผ้าฝ้าย
            4.4 ใช้ผ้ายืดหรือสวมถุงผ้ายืดปกคลุมผิวหนังที่งอกใหม่ไว้ตลอดเวลา
            4.5 ผิวหนังที่งอกใหม่บริเวณขา ต้องพันผ้ายืดหรือสวมถุงผ้ายืดไว้ตลอด เพราะจะช่วยลดอาการบวม และช่วยลดการเกิดแผลเป็นนูนหนาได้บ้าง
5. หลีกเลี่ยงการถูกกับแสงแดดโดยตรง โดยการสวมเสื้อผ้าปกคลุมบริเวณผิวหนังที่งอกใหม่ ทาครีมกันแดด กางร่มหรือสวมหมวกเมื่อต้องออกในที่โล่งแจ้ง
การดูแลบาดแผล
            ในกรณีที่ยังมีแผลเปิดบางส่วนอยู่ และต้องดูแลแผลต่อเนื่องด้วยตนเองที่บ้าน ควรปฏิบัติตัวตามขั้นตอนดังนี้
            1. แกะผ้าปิดแผลเดิมออก ผ้าปิดแผลด้านนอกแกะอย่างเบามือ สำหรับผ้าปิดแผลชั้นในที่ติดอยู่กับแผล ต้องทำให้เปียกชุ่มก่อนที่จะลอกออก วิธีลอก ให้ลอกเบาๆ ถ้าเป็นบริเวณที่แช่น้ำได้ เช่นบริเวณเท้า มือ ให้แช่น้ำก่อนลอก แต่ถ้าเป็นบริเวณที่แช่น้ำไม่ได้ ให้ใช้น้ำราดจนชุ่มแล้วค่อยๆลอกออก
            2. ชำระล้างแผลด้วยน้ำสะอาด อาจใช้น้ำจากท่อประปาหรือน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดแผล ไม่ควรใช้น้ำที่ขังไว้ในถังน้ำหรือโอ่งน้ำ เพราะไม่สะอาด อาจทำให้แผลอักเสบติดเชื้อได้
            3. ขณะชำระล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ให้ใช้ผ้าก๊อสชุ่มน้ำซับเบาๆบริเวณบาดแผล เพื่อให้ยาที่ติดแผลอยู่หลุดออก อย่าถูแผลเพราะจะทำให้เนื้อที่งอกขึ้นมาใหม่ชอกช้ำได้
            4. หลังล้างแผลแล้ว รอจนแผลแห้งหรือซับด้วยผ้าก๊อสแห้งสะอาดก่อนทาด้วยยาที่ทางโรงพยาบาลจัดให้
            5. ทายาที่โรงพยาบาลจัดให้บนแผลอย่างทั่วถึงตามที่แพทย์สั่งหรือใช้แผ่นปิดแผลวางบนแผลตามที่แพทย์แนะนำ
            6. กรณีที่ทายา ใช้ผ้าก๊อสวางปิดทับบนแผลแล้วพันด้วยผ้าก๊อสชนิดม้วนหรือผ้ายืดรัดแผล
หลักที่ควรปฏิบัติในการดูแลบาดแผล
            1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังทำแผล
            2. เก็บถุงอุปกรณ์ทำแผลในที่สะอาด เช่น ในกล่องที่มีฝาปิด หรือในถุงพลาสติกสะอาด
            3. ก๊อสที่ใช้แล้ว ให้เก็บใส่ถุงอย่างมิดชิดก่อนนำไปทิ้งขยะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
การป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนหนา
            ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่งอกขึ้นมาใหม่อาจเกิดแผลเป็นนูนหนาได้ ลักษณะของแผลเป็นที่เกิดขึ้นมีสีแดงคล้ำ นูนขึ้นกว่าผิวหนังส่วนอื่นๆ วิธีป้องกันหรือทำให้แผลเป็นนูนน้อยลง คือสวมถุงผ้ายืดหรือใช้ผ้ายืดชนิดม้วนพันรัดแผลไว้ตลอดเวลาแม้ในระหว่างที่นอนหลับ การถอดจะถอดได้เฉพาะขณะที่อาบน้ำเท่านั้น
ขั้นตอนในการสวมหรือพันผ้ายืด มีดังนี้
            1. ทำความสะอาดผิวหนังด้วยการอาบน้ำแล้วซับให้แห้ง
            2. ทาครีมหรือน้ำมันที่ผิวหนังหรือแผลเป็น
            3. นวดเบาๆโดยใช้มือถูวนๆบริเวณแผลเป็น
            4. สวมถุงผ้ายืดหรือพันผ้ารัดให้แน่น
            การสวมผ้ายืดอย่างถูกวิธีและสวมตลอดเวลา จะช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนหนาได้ ในระยะแรกที่สวมผ้ายืดใหม่ๆอาจจะรู้สึกร้อนและรำคาญ จึงต้องใช้ความอดทนและตั้งใจอย่างมาก
การดูแลทำความสะอาดผ้ายืด
            ซักผ้ายืดด้วยผงซักฟอกหรือสบู่ แล้วล้างน้ำจนสะอาด บีบน้ำให้หมาด ห้ามบิดผ้าเพื่อให้น้ำแห้งเพราะจะทำให้ผ้ายืดออกและเสื่อมได้ง่าย การตากผ้ายืดต้องตากในที่ร่มเท่านั้น ห้ามนำไปตากแดดเพราะจะทำให้ผ้ายืดเสื่อมเช่นกัน
การรับประทานอาหาร
            รับประทานอาหารได้ทุกชนิด โดยควรบำรุงร่างกายให้แข็งแรงเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและสร้างความต้านทานเชื้อโรค โดยรับประทานอาหารดังนี้
            1. รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด และรับประทานไข่ได้ตามต้องการ ถ้าไม่มีโรคประจำตัวอยู่ด้วย
            2. รับประทานนม ถั่วและผักทุกชนิด
            3. รับประทานผักและผลไม้ เช่น ส้ม ฝรั่ง เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินซี ซึ่งมีผลให้หลอดเลือดและเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นใหม่ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
การป้องกันข้อยึดติด
            บริเวณข้อต่อต่างๆของร่างกายที่มีแผลค่อนข้างลึก เช่น ข้อพับแขน ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ข้อเท้า ไหล่ คอ อาจเกิดแผลเป็นดึงรั้ง มีผลให้ข้อต่อต่างๆยึดติด เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ ผิดรูปผิดร่างไปจากเดิม และอาจเกิดความพิการขึ้นได้
วิธีป้องกันข้อยึดติด หรือป้องกันความพิการ มีดังต่อไปนี้
            1. บริหารข้อต่อนั้นๆอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
            2. ประคบบริเวณข้อต่อด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น จะทำให้เกิดการผ่อนคลายจากอาการตึง หรือดึงรั้งและช่วยให้บริหารข้อต่อได้คล่องขึ้น
            3. การบริหารข้อต่อทุกส่วนของร่างกาย ควรทำครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง วันละอย่างน้อย 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน
            4. กรณีที่แผลลึกมากๆ และมีโอกาสเกิดข้อต่อผิดรูป ต้องใส่เฝือกเครื่องพยุงหรืออุปกรณ์ต่างๆเพื่อป้องกันการหดรั้ง ตามที่แพทย์แนะนำและจัดให้ไป
การปฏิบัติตัวด้านอื่นๆเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและหายจากการเจ็บป่วย
            1. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ โดยนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
            2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
            3. งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
            4. เมื่อแผลหายสนิทดีเกือบหมดแล้ว สามารถกลับทำงาน เรียนหนังสือและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตัวเพื่อดูแลผิวหนัง ป้องกันแผลเป็นหรือเพื่อป้องกันข้อยึดติดตามคำแนะนำเท่านั้น
            5. อาการปวดลึกๆภายในกล้ามเนื้ออาจยังคงมีอยู่ในระยะ 2-3 ปีแรก ซึ่งแก้ไขได้โดยการรับประทานยาแก้ปวดร่วมกับการประคบด้วยน้ำอุ่น หรือนวดด้วยครีมทาผิวหรือน้ำมัน
            6. ผิวหนังที่งอกขึ้นมาใหม่อาจมีลักษณะไม่เหมือนผิวหนังเดิม เช่น การเป็นแผลเป็น ผิวหนังมีสีคล้ำกว่าปกติหรือสีจางกว่าปกติ ผิวหนังแห้ง กระด้าง บางกว่าปกติและถลอกง่าย แต่ลักษณะดังกล่าวจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 1-2 ปีถ้าปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด การทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความสวยงาม ควรทำเมื่อแผลเป็นหยุดเจริญเติบโตแล้ว คือประมาณ 2 ปีหลังการเกิดอุบัติเหตุ
            7. ผู้ป่วยควรมารับการรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด