ข้อสะโพกหลุด ทำไงดี!

ข้อสะโพกหลุด ทำไงดี!

ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            ทุกวันนี้อุบัติเหตุตามท้องถนน มักนำมาซึ่งความสูญเสียและการบาดเจ็บของร่างกาย  ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเกิดจาก ข้อสะโพกหลุด      

            ข้อสะโพกนั้น เป็นข้อที่มีความมั่นคงสูง จากลักษณะที่หัวกระดูกสะโพกเป็นทรงกลมเคลื่อนไหวในเบ้าสะโพก ข้อสะโพกหลุดจึงเป็นการบาดเจ็บที่พบไม่บ่อย  เมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ เช่น ข้อไหล่ สาเหตุที่ทำให้ข้อสะโพกหลุดนั้น มักเกิดจากอุบัติเหตุที่มีความรุนแรง เช่น  จากรถยนต์  หลังการบาดเจ็บ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดมาก ไม่สามารถยืนได้ ขยับตัวลำบาก อาจสังเกตเห็นขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บดูสั้นลงกว่าขาด้านตรงข้าม
            การวินิจฉัยนั้น  แพทย์จะประเมินจากภาพเอกซเรย์ของข้อสะโพกว่า มีการเคลื่อนหลุดของหัวกระดูกสะโพกออกจากเบ้าสะโพกหรือไม่   ซึ่งการที่ข้อสะโพกเคลื่อนหลุดนั้น  บางครั้งอาจมีการแตกหักของหัวกระดูกสะโพกหรือขอบเบ้าสะโพกร่วมด้วย อันเนื่องมาจากการกระแทกกันอย่างแรงของกระดูกทั้งสองส่วนนี้ก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนหลุดของข้อ  ซึ่งหากมีกระดูกหักร่วมด้วยแล้ว  ก็จะทำให้การรักษาซับซ้อนขึ้นอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อยึดกระดูกที่หักในภายหลัง
            ในด้านการรักษานั้น  แพทย์จะทำการดึงข้อสะโพกให้เข้าที่  ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องทำในห้องผ่าตัดโดยให้ยาสลบเพื่อลดการตรึงตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ข้อสะโพก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อขนาดใหญ่หลายมัด (ต่างจากการดึงข้อไหล่ ซึ่งอาจทำในห้องฉุกเฉินได้โดยการฉีดยาระงับปวด) สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ  ข้อสะโพกที่หลุดนั้น จะต้องได้รับการดึงกลับเข้าที่โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด ซึ่งจะทำให้หัวกระดูกสะโพกยุบ เกิดการผิดรูป ทำให้ข้อเสื่อมในภายหลัง  โดยพบภาวะหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด ร้อยละ 10 - 34 ของผู้ป่วยที่มีข้อสะโพกเคลื่อนหลุด และหากดึงข้อสะโพกให้เข้าที่เกิน 6 ชั่วโมงภายหลังการบาดเจ็บ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ 
            หลังจากดึงข้อสะโพกเข้าที่แล้ว ข้อมักจะมีความมั่นคงดี และโอกาสเกิดการหลุดซ้ำของข้อก็มีน้อย  (ต่างจากข้อไหล่ที่หลุดได้ง่ายกว่า และมีการหลุดซ้ำได้บ่อยมาก) ช่วงแรกของการฟื้นฟูสภาพจะเป็นการให้ผู้ป่วยบริหารให้วงของการเคลื่อนไหวข้อสะโพกกลับมาปกติ และเดินด้วยไม้ค้ำยันประมาณ 1 – 2 เดือน แล้วจึงสามารถเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่ จากนั้นก็ต้องบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก และต้นขาให้มีความแข็งแรง โดยทั่วไปจะเริ่มวิ่งเหยาะได้ประมาณ 3 - 4 เดือน ภายหลังการบาดเจ็บ และผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจร่างกายและเอกซเรย์ดูว่าไม่มีลักษณะของภาวะหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด
            
 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด