คู่มือเรื่องโรคหูดหงอนไก่
คู่มือเรื่องโรคหูดหงอนไก่
นางชนากานต์ เกิดกลิ่นหอม
นางเพียงเพ็ญ ธัญญะตุลย์
ที่ปรึกษา อาจารย์แพทย์หญิงเจนจิต ฉายะจินดา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์มานพชัย ธรรมคันโท
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ
หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคหูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อฮิวแมนแปบปิโลมาไวรัส (Human papilloma virus) หรือเรียกสั้นๆว่า HPV โรคนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กมักมีอาการที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ในผู้ใหญ่พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ คือ ในช่วงอายุ 16-25 ปี เชื้อชนิดนี้ชอบอยู่บริเวณที่อับชื้น ทำให้เกิดรอยโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์
การติดต่อ
1. ทางเพศสัมพันธ์ พบประมาณ 50 -70 % ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
2. จากแม่ไปสู่ลูก พบในกรณีที่ทารกคลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ แต่พบได้จำนวนน้อย
ระยะฟักตัว
ประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 8 เดือน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 -3 เดือน แต่ผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้ไม่ได้ติดโรคทุกราย ขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนที่ไม่ตั้งครรภ์
อาการ
เริ่มจากรอยโรคเล็กๆแล้วขยายตัวใหญ่ขึ้น เป็นติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ บางชนิดไม่เป็นติ่งแต่มีลักษณะแบนราบ ผิวขรุขระ บางชนิดมีขนาดใหญ่มากและผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ ผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสติดเชื้อกามโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ซิฟิลิส หนองใน พยาธิในช่องคลอด การติดเชื้อเหล่านี้ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น
ตำแหน่งที่พบ
ในผู้หญิง พบได้ที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูกทวารหนักและบริเวณฝีเย็บ หูดจะเริ่มจากขนาดเล็กๆและโตขึ้นเรื่อยๆ การตั้งครรภ์จะทำให้หูดโตเร็วกว่าปกติ
ในผู้ชาย มักพบใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง และรูเปิดท่อปัสสาวะ และอาจพบบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
ในทารกที่คลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีหูดหงอนไก่ อาจจะทำให้เกิดโรคซึ่งมีอาการแตกต่างกัน ตั้งแต่เสียงแหบจนถึงมีการอุดกั้นของกล่องเสียง
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
1. มีคู่นอนหลายคน
2. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
3. มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ
4. คู่นอนมีการติดเชื้อหูดหงอนไก่
การเลือกใช้วิธีการรักษาชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างดังต่อไปนี้
1. อาการของโรค
2. ค่าใช้จ่ายในการรักษา
3. การเดินทางของผู้ป่วย
4. ดุลพินิจของแพทย์
5. ตำแหน่งที่เป็น
6. การตั้งครรภ์
การรักษา
1. การจี้ด้วยสารเคมี เช่น 80% กรดไตรคลอโรอะเซติค (Trichloroacetic acid) และ 25% โพโดฟิลลีน (Podophyllin) จี้บริเวณที่เป็นหูดโดยบุคลากรทางการแพทย์สัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันทุกสัปดาห์จนหาย ถ้า รักษาติดต่อกันเกิน 6 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่น หลังจี้ยาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ถูกจี้โดนน้ำ
2. การใช้ยาทาบริเวณที่เป็นหูด เช่น 5% อิมิควิโมดครีม (5% Imiquimod cream) จะช่วยลดปริมาณไวรัสทำให้หูดหายไปและยังช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรค อีกทั้งสะดวกในการใช้เพราะผู้ป่วยสามารถนำกลับไปทา เองที่บ้านได้ แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพง
3. การผ่าตัด ทำได้หลายวิธี คือ
3.1 การจี้หรือการตัดออกด้วยไฟฟ้า
3.2 การจี้หรือตัดออกโดยใช้ความเย็นจัด
3.3 การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ มักใช้รักษาหูดที่มีขนาดใหญ่
หากท่านมีข้อสงสัยใดหรือต้องการรับการตรวจคัดกรองโรคหูดหงอนไก่ กรุณาติดต่อได้ที่ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) โทรศัพท์ 02-412-9689 หรือ 02-419-7377 เวลา 07.00-15.30น.