“อีโคไล” ภัยร้ายที่มากับอาหาร

 

 “อีโคไล”  ภัยร้ายที่มากับอาหาร

           

          รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน

  ภาควิชาจุลชีววิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล  ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า  3,400 คน ในประเทศเยอรมันนีและประเทศอื่นๆ ในยุโรป   ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 39 คนในขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 54) แต่ประเทศไทยจะเกิดเหตุการณ์นี้หรือไม่  พบคำตอบจากนี้ครับ

เชื้ออีโคไล (E. coli)  เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง  ปกติพบอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้ของคนและสัตว์  โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และนก ซึ่งเชื้ออีโคไลนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์นั้นมักไม่ก่อให้เกิดโรค    สายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนได้ มีตั้งแต่ที่ก่อโรคไม่รุนแรง เช่น  โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาหารเป็นพิษ  ไปจนถึงที่ก่อโรครุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด  สำหรับสายพันธุ์ของเชื้ออีโคไล กลุ่มอีเฮค (EHEC) หรือเอนเตอโรฮีโมราจิคอีโคไล (Enterohemorrhagic E. coli) ที่พบกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในแถบยุโรปขณะนี้เป็นกลุ่มที่ก่อโรคในทางเดินอาหารที่สามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เชื้ออีเฮคเคยระบาดมาแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา  

โดยปกติแล้วจะพบเชื้ออีโคไลได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในมูลสัตว์ และส่วนใหญ่แพร่สู่คนได้ทางการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่  พบเชื้อได้ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เนื้อหรือผักดิบ ปรุงไม่สุก รวมถึงนมและน้ำที่ไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การปนเปื้อนของเชื้อโรคจากอุจจาระสู่อาหารและน้ำ อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเตรียมและการปรุงอาหารได้เช่นกัน

ลักษณะอาการของผู้ที่ได้รับเชื้อกลุ่มอีเฮคมีความหลากหลาย  ตั้งแต่ท้องร่วงเป็นน้ำที่ไม่รุนแรง หายได้เอง จนทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบเป็นแผล  ถ่ายอุจจาระเหลวปนมูกเลือด  ปวดเกร็งท้อง  อาเจียน  อาจมีไข้ร่วมด้วย  เนื่องจากเชื้อสามารถทนความเป็นกรดได้สูง จึงทำให้เชื้อผ่านบริเวณกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกรดไปก่อโรคในลำไส้ได้  คุณสมบัติในการก่อโรคที่สำคัญของเชื้อกลุ่มอีเฮค คือสามารถสร้างและปล่อยสารพิษ  ชิกา (Shiga toxin) ออกมา    สารพิษชิกาจะสามารถเข้าสู่กระแสเลือด  และไปทำลายเม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือด  ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซีดและเลือดออกง่าย  รวมถึงทำลายเซลล์ไต ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 

ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าปริมาณเชื้อกลุ่มอีเฮคที่ก่อโรคได้นั้นอยู่ในระดับต่ำมากเพียง  10 - 100 เซลล์เท่านั้น   ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเชื้อก่อโรคในทางเดินอาหารทั่วไป มักต้องมีเชื้อในปริมาณมากกว่า  1  ล้านเซลล์   สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อกลุ่มอีเฮคนี้  เฉลี่ยประมาณ  3 - 4 วัน (อาจแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 2 วันถึงหลายสัปดาห์)    ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย  ร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อหากมีอาการรุนแรง  ผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงรุนแรง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมกับถ่ายปนมูกเลือด ควรรีบปรึกษาแพทย์ 

แม้ขณะนี้จะยังไม่พบเชื้ออีโคไลกลุ่มอีเฮคระบาดในประเทศไทย และพบก่อโรคในคนไทยได้น้อยมาก  แต่ควรระมัดระวังและเตรียมพร้อม  การป้องกันที่ดีที่สุด คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกถูกสุขลักษณะ เนื่องจากเชื้อจะถูกทำลาย ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป  และล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ หากสงสัยว่าจะติดเชื้อควรรีบพบแพทย์  ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง  รวมทั้งรักษาสุขอนามัยเรื่องอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม ตลอดจนความสะอาดของภาชนะที่ใช้ เพื่อลดการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

---------------------------------------------------------------------

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด