โรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส

จัดทำโดย  นางพเยาว์   เอนกลาภ

ที่ปรึกษา  อาจารย์แพทย์หญิงเจนจิต  ฉายะจินดา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์มานพชัย  ธรรมคันโท

ศาสตราจารย์นายแพทย์อนุวัตร รุ่งพิสุทธิพงษ์

หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรคซิฟิลิสเกิดขึ้นได้อย่างไร

              โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema pallidum) เมื่อได้รับเชื้อจะกระจายไปตามกระแสโลหิต ทำให้เกิดพยาธิสภาพได้เกือบทุกอวัยวะ

การติดต่อ ติดต่อได้ 2 ทางคือ

1. จากมารดาสู่ทารก โดยมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิสสามารถส่งเชื้อผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด
            2. ทางเพศสัมพันธ์ จากคู่สมรสที่มีเชื้อถ่ายทอดให้อีกฝ่าย
                               

ระยะฟักตัว โดยเฉลี่ย 2-4 สัปดาห์

การดำเนินโรค แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ระยะที่สอง และระยะที่สาม              

อาการและอาการแสดง

ระยะแรก
            - มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ลักษณะแผลเรียบสะอาด ขอบแข็งไม่เจ็บ ส่วนใหญ่เป็นแผลเดี่ยวตื้นๆ เรียกว่าแผลริมแข็ง แผลจะหายได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์
          -
ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต กดไม่เจ็บ

ระยะที่สอง

- เกิดหลังจากเป็นแผลริมแข็ง 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือน

- มีแผลที่อวัยวะเพศ อาจเป็นแผลเดี่ยวหรือหลายแผล ลักษณะเป็นรอยนูนขึ้นจากผิว

- มีผื่นขึ้นตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ  คลื่นไส้อาเจียน

- ผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรือมีขนคิ้วร่วงร่วมด้วย

- ระยะนี้อาการอาจหายไปเองได้ แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ผลเลือดซิฟิลิสเป็นบวกทุกราย 

ระยะที่สาม (ระยะแฝง)

- ระยะนี้จะไม่ปรากฏอาการใดๆของโรค แต่สามารถตรวจพบเชื้อได้ในกระแสเลือด ผลเลือดซิฟิลิสเป็นบวก ในสตรีที่มาฝากครรภ์และผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มักพบโรคซิฟิลิสระยะแฝงนี้มากกว่าระยะอื่น

เป็นโรคซิฟิลิสแล้วมีอันตราย

            ผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ครบตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ เชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น  หัวใจ สมอง น้ำไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอักเสบ ปวดศีรษะ ตาบอด หูหนวก สติปัญญาเสื่อม วิกลจริต หรือถึงกับเสียชีวิตได้

             สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิส อาจเกิดภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด หรือทารกพิการแต่กำเนิดได้

การรักษา

                       ปัจจุบันยังนิยมรักษาด้วยยาเพนนิซิลิน  ซึ่งเป็นยาที่ได้ผลดีในการรักษาโรคนี้ให้หายได้ โดยการฉีดยาเพนนิซิลินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่องในการทำลายเชื้อ ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเพนนิซิลิน  จะให้ยาชนิดอื่นรับประทาน  เช่น อีริโทรมัยซินรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน 1 เดือน
การปฏิบัติตัวในระหว่างการรักษา
         1. มาพบแพทย์ตามแผนการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด ให้มาฉีดยาตามวัน เวลาที่แพทย์กำหนด และครบตามจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง ในกรณีที่รักษาด้วยยารับประทานให้มาพบแพทย์ตามนัด          

2. ถ้ารับการรักษาไม่ครบตามคำสั่งแพทย์ ต้องเริ่มต้นรักษาใหม่

3. หากมีประวัติเคยแพ้ยาเพนนิซิลิน ต้องบอกให้แพทย์ทราบก่อนการรักษา

4. การติดตามผลการรักษา แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดหลังได้รับการรักษาครบ 3 เดือนและนัดเป็นระยะๆ จนครบ 5 ปี หรือเมื่อแพทย์พิจารณาเห็นควรให้เลิกนัดได้  

5. กรณีที่ยังรักษาไม่ครบ คู่สมรสยังไม่ได้รับการตรวจเลือด หรือคู่สมรสมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ แนะนำให้งดเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์       

6. หากตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์ 

7. สำหรับทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิส  ควรได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์  ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อลดความผิดปกติของอวัยวะในระยะยาว

8. แนะนำให้คู่สมรสมารับคำปรึกษาและการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส                            

9. ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง  เพราะจะทำให้โรคไม่หายขาดและอาจแพ้ยาได้

 

หากท่านมีข้อสงสัยใดหรือต้องการรับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส  กรุณาติดต่อได้ที่ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) โทรศัพท์ 02-412-9689 หรือ 02-419-7377  เวลา  07.00-15.30น.

    

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด