พยาธิขึ้นสมอง...กับอาหารสุกๆดิบๆ

พยาธิขึ้นสมอง...กับอาหารสุกๆดิบๆ

 

                                                          รศ.ดร.ประภาทิพย์ เอี่ยมโสภณา 
ภาควิชาปรสิตวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

          จากข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มีเด็กสาวป่วยด้วยโรคสมองอักเสบแล้วกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุมาจากพยาธิในส้มตำปูปลาร้านั้น สร้างความสงสัยแก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะชาวชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ในด้านอาหารการกินที่มักเป็นพืชและสัตว์ที่มีอยู่ตามแหล่งธรรมชาติของท้องถิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานอาหารดิบ ปิ้งย่าง  หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ  เช่น ลาบ ก้อย พล่า ยำ น้ำตก อ่อม หมก ฯลฯ อาหารดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการติดโรคและเกิดโรคจากพยาธิหลายชนิด ซึ่งมีระยะติดต่ออยู่ในเนื้อสัตว์หรือปนเปื้อนมากับผักสดที่นำมาบริโภค  

               ในประเทศไทยนั้น พยาธิจากอาหารที่เป็นสาเหตุสำคัญของ “โรคพยาธิขึ้นสมองในคน” ทำให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิต ที่พบบ่อย ๆ มี 2 ชนิด ได้แก่

1. พยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylus cantonensis)

            พยาธิหอยโข่ง หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “พยาธิปอดหนู” เป็นพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการกินเนื้อหอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือเนื้อสัตว์จำพวก กุ้ง ปู กบ และตะกวด ปรุงแบบดิบๆหรือดิบ ๆ สุกๆ เช่น นำมาทำก้อย ยำ ลาบ พล่า หรือการกินพืช ผักสด หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง   

            พยาธิหอยโข่งนั้น  โดยธรรมชาติเป็นพยาธิของหนู  เช่น หนูนา หนูท่อ หนูป่า พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู  เมื่อหนูถ่ายอุจจาระจะมีพยาธิตัวอ่อนปะปนมา เมื่อหอย (ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด และตัวทาก) กินตัวอ่อนของพยาธิหรือตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าตัวหอยจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหรืออวัยวะของหอย และเมื่อคนนำหอยมารับประทานโดยไม่ทำให้สุกก่อน ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกาย ไปตามกระแสเลือด แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง

          พยาธิ เมื่อเข้าไปในสมองแล้ว จะเจริญเติบโตและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (eosinophil) ขึ้นสูงในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติได้ บ่อยครั้งที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลูกตา ทำให้เยื่อบุภายในตาฉีกขาดและมีเลือดออก อาจจะทำให้ตาบอดได้   การรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ปรุงไม่สุก อาทิ กุ้งฝอย ปู กบ ตะกวด ซึ่งกินหอยที่มีพยาธิ   ก็มีโอกาสได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

สัญญาณอันตราย
        
โดยทั่วไป ผู้ติดโรคพยาธิหอยโข่งมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่กินเข้าไป รวมทั้งภาวะภูมิคุ้มกันและสุขภาพพลานามัยของผู้ได้รับพยาธิ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็งและหลังแข็ง บางรายอาจพบอาการอัมพาตบางส่วนของแขน ขา หรือใบหน้าได้

รักษาอย่างไร

          การรักษาโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากโรคพยาธิหอยโข่งนั้น เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพราะปัจจุบันไม่มียาชนิดใดที่เฉพาะเจาะจงในการรักษาโรคพยาธิหอยโข่ง ถ้าผู้ป่วยได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิเข้าไปไม่มากอาการของโรคจะหายได้เอง  การให้ยาแก้ปวด และการเจาะหลังเพื่อเอาน้ำไขสันหลังออกเป็นการลดความดันในสมองจะช่วยลดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงในผู้ป่วยได้ การใช้ยาจำพวกสตีรอยด์ (steroid) จะช่วยลดการอักเสบของสมองในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

 

เราสามารถป้องกันไม่ให้ติดโรคจากพยาธิหอยโข่งได้โดย....

-          งดกินเนื้อหอยทั้งหอยน้ำจืดและหอยบกดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ

-          กินแต่เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้ว

-          ผักสดที่รับประทานต้องล้างให้สะอาด

-          หากต้องดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องดื่มน้ำที่ต้มเดือดแล้ว

     2. พยาธิตัวจี๊ด  (Gnathostoma spinigerum)   

พยาธิตัวจี๊ดเป็นพยาธิตัวกลมของสัตว์จำพวก สุนัข แมว สิงโต และเสือ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดโรคพยาธิตัวจี๊ดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น ปลาน้ำจืด กบ งู เป็ด ไก่ นก ที่ปิ้งหรือย่างไม่สุก หรือปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ  ผู้ป่วยที่ติดโรคพยาธิตัวจี๊ดมักจะมีการบวมเคลื่อนที่โดยเฉพาะที่ผิวหนัง เนื่องจากพยาธิตัวอ่อนที่เข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังมีการเคลื่อนไหว  บ่อยครั้งที่พบพยาธิเคลื่อนที่เข้าไปในสมอง ทำให้เกิดอาการอักเสบ มีเลือดออก และเกิดอาการทางประสาท เป็นอัมพาต ชักและหมดสติ บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

 พยาธิตัวจี๊ดระยะตัวเต็มวัยนั้นตามปกติจะพบในผนังกระเพาะอาหารของสุนัข แมว สิงโต เสือ  ไข่พยาธิตัวจี๊ดจะปะปนออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ ออกสู่สิ่งแวดล้อม  เมื่อไข่ถูกชะพาลงในน้ำ ตัวอ่อนของพยาธิจะฟักออกจากไข่ เมื่อถูกกินโดยกุ้งไร ตัวอ่อนของพยาธิจะเจริญในกุ้งไร เมื่อกุ้งไรถูกกินโดยปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน และปลาไหล พยาธิจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อฝังตัวเป็นซีสต์อยู่ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของของสัตว์เหล่านี้   

หากคนกินเนื้อปลาที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดซึ่งปรุงไม่สุก หรือกินเนื้อกบ งู เป็ด ไก่ นก ที่เผอิญไปกินตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ด ตัวอ่อนที่ฝังตัวเป็นซีสต์อยู่ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของสัตว์เหล่านี้จะไชทะลุผนังกระเพาะอาหาร เคลื่อนที่ไปตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย 

ในรายที่ตัวพยาธิไชเข้าใต้ผิวหนังจะเกิดอาการบวมแดงเจ็บจี๊ด ๆ  พยาธิบางตัวเคลื่อนย้ายที่อยู่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดการบวมเคลื่อนที่ ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณแขน ขา ใบหน้า เปลือกตา หน้าท้อง  และเท้า ในรายที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง จะทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง พบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิลสูงขึ้นในน้ำไขสันหลัง  จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง  โคมาและอาจเสียชีวิต  บางรายเมื่อพยาธิตัวจี๊ดไชเข้าไปในลูกตาก็จะทำให้ตาบอดได้  ยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาโรคพยาธิตัวจี๊ดโดยเฉพาะ การรักษาให้รับประทานยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) ขนาด 400 มิลลิกรัม นาน 21 วัน ให้ผลการรักษาประมาณร้อยละ 94

      การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเหลี่ยงการรับประทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบสุกๆ ดิบๆ

โรคพยาธิที่เกิดจากการกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ  แม้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยเหมือนโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ แต่ก็เป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพ และทำให้เกิดโรครุนแรงและเสียชีวิตได้ เพียงแค่การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนสูงเท่านั้น ความเสี่ยงในการเกิดโรคพยาธิจากอาหารก็ไม่สามารถมาย่ำกรายเราได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอนค่ะ


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด